บทวิเคราะห์ : เบอร์นั้นสำคัญไฉน

การเมือง
4 เม.ย. 66
15:32
244
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เบอร์นั้นสำคัญไฉน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือส.ส.ระบบพรรค ที่เบื้องต้นมี 49 พรรคการเมืองผ่านพ้นการตรวจสอบคุณสมบัติ

พรรคหลักๆ ที่มีความเคลื่อนไหวเป็นข่าวคราวอยู่บนหน้าสื่อ ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เบอร์ 7 พรรคประชาชาติ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) เบอร์ 11 พรรคชาติพัฒนากล้า (นายกรณ์ จาติกวณิช) เบอร์ 14 พรรคชาติไทยพัฒนา (นายวราวุธ ศิลปอาชา) เบอร์ 18 พรรคไทยภักดี (นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม) เบอร์ 21 พรรครวมไทยสร้างชาติ (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)

เบอร์ 22 พรรคเพื่อชาติ (น.ส.ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช) เบอร์ 24 พรรคประชาธิปัตย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เบอร์ 26 พรรคพลังธรรมใหม่ (นพ.ระวี มาศฉมาดล) เบอร์ 27 พรรคเพื่อไทย (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) เบอร์ 29 พรรคก้าวไกล(นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) เบอร์ 31 พรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เบอร์ 32 และพลังประชารัฐ  (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เบอร์ 37

ดูจากอันดับจากการจับสลากแล้ว พรรคใหญ่ที่ได้เลขตัวเดียวมีเพียงพรรคภูมิใจไทย (เบอร์ 7)เท่านั้น แต่พรรคอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มมีข่าวคราวความเคลื่อนไหว ก็อยู่ในลำดับที่เกาะกลุ่มกันอยู่ ไม่มีพรรคใดหลุดออกไปอยู่นอกกลุ่ม จนทำให้เกิดความเสียเปรียบพรรคอื่น แม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ที่ “บิ๊กป้อม” ขึ้นไปล้วงสลากเอง แม้ได้เบอร์ 37 แต่ไม่เสียหายนัก

ที่น่าสังเกตประการหนึ่งสำหรับการจับสลากเบอร์สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครั้งนี้ คือใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะ กกต.คงหวังแสดงความโปร่งใส ป้องกันข้อสงสัยหรือข้อครหาใด ๆ อันเกิดจากการจับสลาก โดยคลี่และแสดงทีละเบอร์ให้ตัวแทนพรรคที่อยู่ในห้องจับสลากให้ดูอย่างละเอียดตั้งแต่ปิงปองลูกแรกจนถึงลูกสุดท้าย

แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ที่ต้องยอมให้ขั้นตอนยืดเยื้อกว่าครั้งก่อนๆ เพราะผู้คนไม่ไว้วางใจกกต. จากผลงานและความบกพร่องหลายอย่างติดต่อกัน แม้แต่เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเอาจำนวนคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งไปคิดรวมด้วย

หรือแม้แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอาตำบลหรือแขวงเป็นตัวตั้งต้น แทนที่จะใช้อำเภอหรือเขต ยังไม่นับรวมเรื่องแจกใบแดงใบเหลืองในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีน้อยมาก

เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จับสลากได้ จะถูกนำไปใช้ในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเป็นที่มาของบัตรเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ที่จะมีครบทั้งโลโก้และชื่อพรรคการเมือง ต่างจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่ไร้สัญลักษณ์ใด ๆ จนถูกเรียกแบบประชดประชันว่า เป็นบัตรโหล

ปัญหาสำคัญ อยู่ที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะครีเอท (คิดและออกแบบ) เบอร์ที่จับสลากได้อย่างไร ให้คนจดจำได้ง่าย ไม่หลงลืม หรือหากสามารถใช้มือและนิ้วแสดงออกในรูปสัญลักษณ์ของเบอร์ได้ ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งตอนลงพื้นที่พบปะหรือขึ้นเวทีปราศรัย

เพราะเบอร์ผู้สมัครนั้น สำคัญไม่น้อยกว่าชื่อผู้สมัคร หรือแม้แต่โลโก้พรรคอย่างไม่อาจปฏิเสธ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอก่อน! กกต.ชี้เบอร์พรรคการเมืองรู้ผลทางการ 17.00 น.

โยง "เบอร์พรรค" เลขเฮง-ถูกใจ-ปลอบใจ หัวหน้าจับเองยังไงก็ดี

"พล.อ.ประยุทธ์" ยอมรับหวังหวนตั้งรัฐบาล-ยังไม่จับขั้วใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง