สมัครปาร์ตี้ลิสต์วันแรก 53 พรรค กกต.เคาะผ่านแล้ว 49 พรรค

การเมือง
4 เม.ย. 66
16:52
765
Logo Thai PBS
สมัครปาร์ตี้ลิสต์วันแรก 53 พรรค กกต.เคาะผ่านแล้ว 49 พรรค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาธิการ กกต.ระบุสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อวันแรก 53 พรรค ตรวจสอบเอกสารผ่านแล้ว 49 พรรค สามารถใช้เบอร์ที่จับสลากหาเสียงได้

วันนี้ (4 เม.ย.2566) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในวันแรก ว่า มีพรรคการเมืองที่มีเอกสารครบถ้วน 49 พรรค สามารถออกใบรับสมัครได้ครบทั้งหมดและได้หมายเลขตามลำดับที่จับสลากได้ในช่วงเช้า ซึ่งภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย มีพรรคการเมืองมายื่นสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม ทำให้ขณะนี้มีพรรคการเมืองยื่นใบสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว 53 พรรคและรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 20 คนจาก 16 พรรคการเมือง

ส่วนที่มีการท้วงติงว่า เหตุใด กกต.ไม่ตรวจเอกสารคุณสมบัติก่อนที่จะจับฉลากหมายเลข เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า ตามขั้นตอน พรรคการเมืองจะต้องจับสลากหมายเลขก่อน เมื่อได้หมายเลขแล้ว จึงจะตรวจสอบเอกสาร ชำระค่าธรรมเนียม ก่อนที่ กกต.จะออกหนังสือรับรองให้ ทั้งนี้พรรคการเมืองสามารถส่งเอกสารการสมัครให้ กกต.ตรวจสอบก่อนวันรับสมัครได้ แต่เมื่อไม่ส่งมาตรวจล่วงหน้า จึงจำเป็นต้องตรวจหน้างาน โดยยืนยันว่าไม่ได้ล้าช้า

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า หากพบว่าผู้สมัครในบัญชีของพรรคการเมืองใดขาดคุณสมบัติ จะตัดรายชื่อออกจากบัญชีผู้สมัคร แต่ทั้งนี้ผู้สมัครสามารถไปยื่นร้องต่อศาลฎีกาให้พิจารณาได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามแม้จะตัดรายชื่อผู้สมัครบางคน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบัญชีรายชื่อทั้งหมด หากกรณีได้รับเลือกตั้ง พรรคสามารถเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่ได้

ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบปฏิบัติที่ผ่านมาไม่ต้องมีการตรวจสอบ แต่หากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว คุณสมบัติต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองทักท้วงว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่มีโลโก้พรรคการเมืองนั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบต้องแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแบบแบ่งเขต กำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมายและหมายเลขเท่านั้น ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมาย โลโก้และชื่อพรรค

หาก กกต.พิมพ์โลโก้ในบัตรแบบแบ่งเขต แม้สีของบัตรจะแตกต่างกัน แต่ก็อาจเกิดการเข้าใจผิดและเกิดบัตรเสียได้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่ง กกต.จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยจะมีเบอร์และชื่อผู้สมัครของแต่ละพรรคติดอยู่บริเวณหน่วยเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง