นักวิจัยพบ พืชส่งเสียงร้องออกมาได้ เมื่อตกอยู่ในอันตราย

Logo Thai PBS
นักวิจัยพบ พืชส่งเสียงร้องออกมาได้ เมื่อตกอยู่ในอันตราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยพบว่า พืชส่งเสียงในคลื่นความถี่ที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินออกมาเป็นระยะ ๆ คล้ายกับเสียงกระดกลิ้น โดยเฉพาะเมื่อพืชกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการโดนตัด หรือขาดน้ำ

กลุ่มนักวิจัยจากประเทศอิสราเอลเผยผลการทดลองบันทึกเสียงพืชชนิดต่าง ๆ ลงในวารสาร Cell Press ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าพืชส่งคลื่นเสียงในย่านความถี่สูงซึ่งมนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ แต่สัตว์ชนิดอื่น เช่น ผึ้ง หรือผีเสื้อกลางคืน จะสามารถได้ยินเมื่อพืชกำลังเผชิญกับสภาวะเครียดเช่น ขาดน้ำ หรือโดนตัด

โดยกลุ่มนักวิจัยอิสราเอลนี้ได้เลือกที่จะทำการทดลองกับต้นมะเขือเทศ และต้นยาสูบ เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตและควบคุมในห้องทดลองได้ง่าย พร้อมกับมีผลการศึกษาเรื่องพันธุกรรมที่ชัดเจน ผ่านการนำไมโครโฟนที่สามารถบันทึกคลื่นเสียงความถี่สูงได้ไปตั้งใกล้ ๆ ต้นมะเขือเทศ และต้นยาสูบ ในห้องทดลองที่ได้รับออกมาให้เป็นห้องอัดเสียงที่เงียบสงัด และโรงเรือนปลูกพืชทั่วไปที่มีเสียงลมเสียงฝนตามธรรมชาติ

หลังจากการทดลองเสร็จสิ้น ปรากฏว่าต้นมะเขือเทศ และต้นยาสูบนั้น ส่งคลื่นเสียงในย่านความถี่ 40-80 กิโลเฮิรตซ์ ออกมาได้ไกลประมาณ 3-5 เมตร ซึ่งมีเสียงดังป๊อก ๆ แป๊ก ๆ คล้ายกับเสียงที่กระดกลิ้นของมนุษย์ และนอกจากต้นมะเขือเทศและต้นยาสูบที่สามารถส่งเสียงได้แล้ว นักวิจัยกลุ่มนี้ยังสามารถบันทึกเสียงป๊อก ๆ แป๊ก ๆ จากพืชชนิดอื่นได้เช่นกัน ได้แก่ ต้นข้าวโพด ต้นองุ่น ต้นข้าวสาลี และต้นกระบองเพชร ซึ่งยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของเสียงได้อย่างชัดเจน

แต่นักวิจัยก็ได้ตั้งสมมติฐานว่าเสียงป๊อก ๆ แป๊ก ๆ นี้ น่าจะมาจากท่อลำเลียงน้ำและสารอาหารที่อยู่ภายในลำต้นของพืช ซึ่งเกิดจากเสียงที่ส่งออกมาน่าจะเกิดจากสภาวะ Cavitation หรือ การเกิดจากการแตกตัวของฟองอากาศเล็ก ๆ ภายในท่อลำเลียงพืช ซึ่งคล้ายกับการแตกตัวของฟองอากาศภายในน้ำไขข้อของมนุษย์แล้วสามารถก่อให้เกิดเสียงดังกร๊อบ ๆ แกร๊บ ๆ เวลาเราหักข้อนิ้วได้ ทั้งนี้นักวิจัยก็คงต้องศึกษาต่อไปว่าจุดประสงค์ของการที่พืชส่งเสียงออกมานั้นคืออะไรกันแน่

ที่มาข้อมูล: The New York Times
ที่มาภาพ: Tuvik Beker
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง