ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 4.5 หมื่นคน พบสายพันธุ์ A/H3 มากสุด

สังคม
10 พ.ค. 66
12:36
871
Logo Thai PBS
ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 4.5 หมื่นคน พบสายพันธุ์ A/H3 มากสุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เผย ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 45,500 คน พบสายพันธุ์ A/H3 มากสุด ขณะที่ อายุ 0-4 ปี อัตราป่วยสูงสุด แนะนำกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (10 พ.ค.2566) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา รายงานเฝ้าระวังโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 1 พ.ค.2566 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 45,500 คน มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน กลุ่มที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ อายุ 0-4 ปี เท่ากับ 346.2 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นอายุ 5-14 ปี (244.4) และอายุ 15-24 ปี (51.2) ผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อัตราป่วย 222.2 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ แพร่ (219.1) พัทลุง (216.8) อุบลราชธานี (196.2) ภูเก็ต (149.9) นราธิวาส (126.3) นครศรีธรรมราช (120.5) มุกดาหาร (116.5) และน่าน (116.2) ตามลำดับ

ข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์ A/H3 ร้อยละ 53 มากที่สุด รองลงมาเป็น สายพันธุ์ B และ A/H1 2009 ร้อยละ 31 และ 16 ตามลำดับ การเฝ้าระวังเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 1 พ.ค.2566 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 15 เหตุการณ์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มากที่สุดในโรงเรียน

พบการระบาด 7 เหตุการณ์ รองลงมาเป็นเรือนจำ 5 เหตุการณ์ วัด 2 เหตุการณ์ และค่ายทหาร 1 เหตุการณ์ จึงขอให้ผู้รับผิดชอบสถานที่เหล่านี้ เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยเพื่อลดการแพร่เชื้อ ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดหรือสวมหน้ากาก นอกจากนี้แนะนำประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

แนะฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะประชากร 7 กลุ่มได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 

ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ที่เสี่ยงสูงต่อภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงป่วยหนักจากโรคโควิด 19 ด้วยเช่นกัน

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 โรคควบคู่กันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงและคนรอบข้างได้ และปีนี้เริ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรคพร้อมกันภายในวันเดียวกัน โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง