อนาคตมาถึงแล้ว! บริษัทเอกชนต่างวางแผนก่อสร้างสถานีอวกาศ

Logo Thai PBS
 อนาคตมาถึงแล้ว! บริษัทเอกชนต่างวางแผนก่อสร้างสถานีอวกาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โลกกำลังเข้าสู่การแข่งขันการสร้างสถานีอวกาศโดยบริษัทเอกชน ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากความพยายามขององค์การนาซาที่ต้องการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

นาซา (NASA) ประกาศวาระสุดท้ายของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อสถานีอวกาศอายุกว่า 25 ปี เริ่มเดินทางมาถึงจุดที่อาจไม่คุ้มค่าสำหรับการปฏิบัติการต่อแล้ว และหันไปโฟกัสโครงการสำรวจอวกาศแห่งอนาคตอย่างโครงการลูนาร์เกตเวย์ ที่จะเป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่โคจรรอบดวงจันทร์แทน

ในขณะที่แนวโน้มด้านประชาธิปไตยอวกาศ (Space Democratization) ก็ได้ส่งแรงผลักดันให้บริษัทอวกาศเอกชนจำนวนมากเล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวในการทำการค้าบนวงโคจรต่ำของโลก หลังจากที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทอวกาศเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่บนวงโคจรผ่านการตั้งสถานีวิจัยภายในสถานีอวกาศนานาชาติ เช่น บริษัทนาโนแร็กซ์ (Nanoracks) ที่ได้สัมปทานพื้นที่บนสถานีฯ และขายพื้นที่รวมถึงอุปกรณ์ให้กับบริษัทคู่ค้า กลุ่มวิจัย ได้ส่งการทดลองต่าง ๆ ขึ้นมาทำบนอวกาศ แนวโน้มธุรกิจดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสร้างรายได้ให้กับนาโนแร็กซ์มากกว่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แถมยังช่วยให้ธุรกิจอวกาศกลุ่มพาหนะนำส่ง มีรายได้มากขึ้นจากการนำส่งการทดลองขึ้นไปยังสถานีอวกาศ

และเมื่อเทคโนโลยีเอื้ออำนวย บริษัทอวกาศต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องสัมปทานพื้นที่บนสถานีอวกาศของรัฐอีกต่อไป และประกาศตั้งสถานีอวกาศของตัวเองบนวงโคจร ตัวอย่างของบริษัทเอกชนที่ประกาศแผนสร้างสถานี เช่น Axiom Space ที่ในช่วงแรกจะก่อสร้างต่อเติมจากสถานีอวกาศนานาชาติ และปลดออกเมื่อสร้างเสร็จภายในปี ค.ศ. 2027

ส่วนอีกบริษัทที่เพิ่งมีประกาศออกมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 ก็ได้แก่บริษัทแวสท์ (VAST) ที่ตั้งเป้าส่งสถานีอวกาศของตัวเองขึ้นสู่วงโคจรภายในปี 2025 ภายใต้ชื่อ Heaven-1

เป็นไปได้ว่าในช่วง ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป บริษัทอวกาศต่าง ๆ จะเข้ามาจับจองพื้นที่บนวงโคจรต่ำของโลกมากขึ้น ส่วนหน่วยงานด้านอวกาศอย่างนาซาของสหรัฐฯ หรือ ESA ของยุโรป ก็จะเดินหน้าโครงการอวกาศที่ยากกว่า ได้แก่ การบุกเบิกการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคารต่อไป

ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: vastspace
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง