หุ่นยนต์รูปดอกไม้ ช่วยผ่าตัดสมองผู้ป่วยลมชัก ลดขนาดแผลและโรคแทรกซ้อน

Logo Thai PBS
หุ่นยนต์รูปดอกไม้ ช่วยผ่าตัดสมองผู้ป่วยลมชัก ลดขนาดแผลและโรคแทรกซ้อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ได้พัฒนาหุ่นยนต์รูปดอกไม้ขนาดจิ๋ว สำหรับช่วยผ่าตัดสมองผู้ป่วยลมชัก ซึ่งสามารถเปลี่ยนการผ่าตัดใหญ่ให้เหลือเพียงการเจาะรูกะโหลกศีรษะขนาดเล็ก ช่วยลดความเจ็บปวดและโรคแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

โดยทั่วไปแล้วการรักษา "โรคลมบ้าหมู" หรือโรคทางระบบประสาทและสมอง แพทย์จะใช้วิธีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าโดยตรงไปที่สมองผ่านการใช้อุปกรณ์ขั้วไฟฟ้า ซึ่งต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกออกเป็นบาดแผลบริเวณกว้างเพื่อให้พื้นที่เพียงพอต่อการใช้อุปกรณ์ขั้วไฟฟ้า การรักษาจึงมีผลข้างเคียงเป็นความเจ็บปวดและโรคแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

นักวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ขนาดเล็กรูปดอกไม้ ที่มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการผ่าตัดสมอง ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาคนไข้ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก โดยจะเหลือเพียงแค่การใช้หุ่นยนต์รูปดอกไม้เจาะรูเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตรในกะโหลกศีรษะ จากนั้นจึงแผ่กลีบออกเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของเยื่อหุ้มสมองและมีประสิทธิภาพในการขยายพื้นที่กระตุ้นไฟฟ้าได้เป็น 2 เท่าของขนาดรูที่เจาะลงไป

นักวิทยาศาสตร์ออกแบบผิวสัมผัสของหุ่นยนต์ให้มีความอ่อนนุ่มมากจนสามารถอยู่ระหว่างพื้นผิวของสมองและกะโหลกศีรษะได้ และทำให้เกิดแผลผ่าตัดน้อย เนื่องจากอุปกรณ์มีลักษณะเหมือนดอกไม้ สามารถสอดผ่านรูเล็ก ๆ ในกะโหลกศีรษะในลักษณะของดอกตูมโดยพับกลีบดอก 6 กลีบไว้ด้านในและเมื่อวางลงบนพื้นผิวของสมองแล้ว จะมีการเทของเหลวเพื่อกระจายกลีบออกอย่างแผ่วเบา โดยภายใน 6 กลีบ จะมีอุปกรณ์การส่งแผ่นกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปวางบนผิวสมอง ครอบคลุมเป็นพื้นที่วงกลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร หรือ 2 เท่าของขนาดรูแผล พื้นที่ขั้วไฟฟ้าที่แปะนี้มีศักยภาพในการรักษาอาการลมบ้าหมู และยังสามารถพับเก็บเพื่อดึงออกมาจากรูที่เจาะไว้ ซึ่งคาดว่าจะลดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้เป็นอย่างดี

หุ่นยนต์ชนิดนี้ได้รับการทดสอบและประสบความสำเร็จในหมูขนาดเล็ก ซึ่งนักวิจัยได้เร่งพัฒนาให้หุ่นยนต์สามารถเจาะรูเปิดกะโหลกขนาดเล็กลง แต่ได้พื้นที่กระตุ้นไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์และพร้อมสำหรับทดสอบการใช้งานกับสมองมนุษย์ต่อไป

ที่มาข้อมูล: scitechdaily, newatlas, technologynetworks, euronews
ที่มาภาพ: epfl
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง