บุญง่ายราคาถูก ปล่อยปลาดุกเอเลียนสปีชีส์ ลงแหล่งน้ำ

สิ่งแวดล้อม
6 มิ.ย. 66
19:27
4,550
Logo Thai PBS
บุญง่ายราคาถูก ปล่อยปลาดุกเอเลียนสปีชีส์ ลงแหล่งน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ดรามาที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ 3 วันติด เรื่องการทำบุญปล่อยปลาดุก ได้กุศล ให้ชีวิตสัตว์ แต่เกิดข้อถกเถียง เพราะปลาดุกที่ปล่อยเป็นสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น กรมประมงออกแจ้งเตือน แต่ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เพราะเป็นสัตว์ที่นิยมปล่อยกันจำนวนมาก

จากกรณีเรื่องการทำบุญปล่อยปลาดุก โดยเกิดข้อถกเถียงเพราะปลาดุกที่ปล่อยเป็นสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ 

ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจการทำบุญปล่อยปลาที่วัดแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่ประชาชนนิยมมาทำบุญด้วยการปล่อยปลา

บริเวณท่าน้ำจะพบว่า มีทั้งฝูงปลาตะเพียนหางแดง สวาย ปลาเสือพ่นน้ำ ซึ่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เพราะเป็นถิ่นอาศัยของปลาแม่น้ำ แต่ที่เห็นอยู่ริมตลิ่งคอนกรีต ปลาดุกจำนวนมากอยู่รวมกัน

ยิ่งกว่านั้นคือ แทบทุกตัวมีแผลผิวหนังถลอกคล้ายติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีแค่ปลาดุก ยังพบปลาช่อน ปลาตะเพียนบางตัวมีอาการคล้ายกันด้วย

แม่ค้าที่ขายปลาดุก บอกว่า ปลาดุกที่ปล่อยลงน้ำ เป็นปลาดุกอุยและบิ๊กอุย ไม่ใช่ปลาดุกรัสเซีย ไม่มีข้อห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำ และเป็นปลาที่ประชาชนเลือกซื้อมากที่สุด เพราะราคาถูก กิโลกรัมละ 50 บาท

ส่วนปลาที่กรมประมงแนะนำให้ปล่อยอย่างปลาช่อน ปลาหมอ ราคาแพงกว่าเท่าตัว และปลาตะเพียน ที่ไม่อดทนต่อการขนส่ง

แต่ข้อมูลจากกรมประมง ปลาดุกบิ๊กอุย เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง ปลาดุกอุย กับปลาดุกรัสเซีย ซึ่งถือว่า เป็นเอเลียนสปีชีส์เช่นกัน จึงขอความร่วมมือไม่ให้ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

ส่วนที่ปล่อยได้คือ สายพันธ์ที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำไทย คือ ปลาดุกอุยและปลาดุกด้าน แต่ที่เป็นปัญหา คือ ส่วนใหญ่แยกชนิดปลาดุกไม่ได้ เพราะคล้ายคลึงกันมาก ให้สังเกตที่ขนาดตัวปลาดุกบิ๊กอุยและปลาดุกรัสเซียขนาดจะใหญ่กว่า และลำตัวเรียวยาวกว่า

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ ปลาดุกทุกชนิดที่เป็นสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลียน สปีชีส์ เช่น ปลาดุกรัสเซีย หรือ ปลาดุกแอฟริกา และ ปลาดุกบิ๊กอุย ไม่อยู่ในบัญชีต้องห้ามตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 65 ที่ห้ามนำเข้า ส่งออก เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เช่น ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอมายัน, ปลาหมอบัตเตอร์ และอื่น ๆ รวม 13 ชนิด

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ชื่อ คนอนุรักษ์ ได้โพสต์เรื่องหายนะของปลาดุกหากปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาและเป็นผู้เขียนหนังสือ "ปลาน้ำจืดในประเทศไทย" อธิบายว่า ปลาดุกจำนวน 1 ตัน จะกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี โดยอาหารของปลาดุกจะกินสัตว์ขนาดเล็กและลูกปลาทุกชนิด สร้างความเสียหายต่อปลาประจำถิ่นเช่น ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ดรามา ! ปล่อยปลาลงน้ำผิดชนิด "จากบุญ" ได้บาป ระบบนิเวศพัง 

ทช.ชี้กิจกรรมปล่อยปลา CSR เป็นปลาการ์ตูนพันธุ์ต่างถิ่น กระทบนิเวศน์ทางทะเล  

พระเตือนสติญาติโยม "ปล่อยปลา-เต่า" ผิดธรรมชาติได้บาป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง