รวบ "ปลัดอำเภอหญิง" กระบี่เรียกสินบน แลกต่อใบอนุญาตโรงแรม

อาชญากรรม
14 มิ.ย. 66
12:30
5,752
Logo Thai PBS
รวบ "ปลัดอำเภอหญิง" กระบี่เรียกสินบน แลกต่อใบอนุญาตโรงแรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจสอบสวนกลาง แถลงจับ "ปลัดอำเภอหญิง" จ.กระบี่ เรียกสินบน 100,000 บาท แลกต่อใบอนุญาตธุรกิจโรงแรม พบทำหลายครั้ง ประวัติติดพนันออนไลน์ ส่วนการขยายผลอีก 5 จังหวัดมีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวมูลค่าเสียหาย 84 ล้านบาท

วันนี้ (14 มิ.ย.2566) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าว 2 คดีสำคัญภายใต้ยุทธการ ปฏิบัติการ STOP Cyber Corruption

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สำหรับคดีแรกจับกุม น.ส.ฐิฌาพร อายุ 42 ปี ปลัดอำเภอเมืองกระบี่ หลังพบว่าเรียกรับผลประโยชน์ จากผู้เสียหายที่ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ไปขอต่อใบอนุญาตแต่หลังจากยื่นคำร้องไปหลายเดือน ยังไม่ได้รับใบอนุญาต

พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รักษาราชการแทน รองผู้บังคับการ ป.ป.ป. กล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ไปยื่นขอต่อใบอนุญาตธุรกิจโรงแรม และขออนุญาตเพิ่มจำนวนห้องพัก ต่อนายอำเภอเมืองกระบี่ เมื่อเดือน ส.ค.2565 แต่ผู้ต้องหาได้รักษาราชการแทน และเป็นผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือการขอต่อใบอนุญาต 

เรียกรับสินบนต่อใบอนุญาต-โยงติดพนันออนไลน์

จนกระทั่งต้นเดือน พ.ค.หรือ 9 เดือน ผู้ต้องหาได้แจ้งกับผู้เสียหายว่า การต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจะต้องมีค่าใช้จ่าย 100,000 บาท โดยอ้างว่าจะต้องนำเงินไปดูแลเจ้านายข้างบน

ผู้เสียหายเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงมาร้องทุกข์ให้ตำรวจ ป.ป.ป.ดำเนินคดี จึงวางแผนเข้าจับผู้ต้องหา โดยนัดหมายให้ผู้ต้องหามารับเงิน 100,000 แสนบาทจากผู้เสียหาย จากนั้นจึงแสดงตัวเข้าจับ ก่อนจะคุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการสอบสวนพบว่าปลัดอำเภอคนนี้ เคยถูกร้องเรียนการเรียกรับผลประโยชน์มาแล้วหลายครั้ง ครั้งละหลักหมื่นถึงแสนบาท และกำลังจะมีคำสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น แต่ครั้งนี้ได้เรียกรับเป็นครั้งสุดท้าย และยังพบว่ามีประวัติการเล่นพนันออนไลน์

ส่วนการต่อใบอนุญาตตามระเบียบแล้ว จะเสียค่าธรรมเนียม 20,000 บาท ซึ่งจะพิจารณาตามขนาดของกิจการ แต่ผู้ต้องหามีความพยายามประวิงเวลาไม่ต่อใบอนุญาตให้เพื่อจะเรียกรับเงิน

พบ 7 คดีมูลค่าเสียหาย 84 ล้านบาท

นอกจากนั้นตำรวจยังได้รับแจ้งจากสำนักงาน ป.ป.ท.ว่า ตรวจสอบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยักยอกเงินงบประมาณของทางราชการไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินจากธนาคาร โดยมี 7 คดี

  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีชำนาญการเทศบาลตำบลลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ได้ยักยอกเงิน 215 ครั้ง เป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท
  • เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี อบต.วังโพรง จ.พิษณุโลก ยักยอกเงิน 132 ครั้ง เป็นเงินกว่า 44 ล้านบาท 
  • เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญการ อบต.นิลเพชร จ.นครปฐม ยักยอกเงิน 23 ครั้ง เป็นเงินกว่า 8.3 ล้านบาท
  • ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.หนองหัวโพ จ.สระบุรี ยักยอกเงิน 84 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4.9 ล้านบาท 
  • ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.ห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ ยักยอกเงิน 60 ครั้ง เสียหายกว่า 5.8 ล้านบาท 
  • นักวิชาการเงินและบัญชี อบต.โคกหล่าม จ.ศรีสะเกษ ยักยอกเงินไป 8 ครั้ง เป็นเงินกว่า 540,000 บาท
  • ผู้อำนวยการกองคลัง อบต.นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ยักยอกเงิน 59 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4 ล้านบาทโดยโอนเงินไปให้กับภรรยา และลูกจ้าง ซึ่งถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดด้วย

สำหรับการตรวจจับใน 7 คดีนี้ เบื้องต้นทำให้เกิดความเสียหายกว่า 84 ล้านบาท ตำรวจเชื่อว่ามีอีกหลายแห่งที่ยังมีการลักลอบก่อเหตุแบบนี้อยู่ หลังจากนี้ก็จะร่วมสืบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ใช้เบิกจ่ายเงินของทางราชการจนนำไปสู่การสืบสวนและจับผู้ก่อเหตุได้

พ.ต.ท.ศิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท.กล่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติการใช้เงินของผู้ต้องหาพบว่าเกี่ยวข้องกับการเล่นพนันออนไลน์ทั้งหมด โดยได้ตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ต้องหาที่ พบไม่มีความสอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี

ส่วนผู้ต้องหาที่ได้รหัสผ่านการควบคุมบัญชีมาแล้ว ก็จะปิดการแจ้งเตือนการตัดเงินออก ทำให้ผู้ที่ดูแลตรวจสอบในระดับที่สูงกว่าไม่ทราบได้ว่า มีเงินออกจากบัญชี

และบางคนก็มอบรหัสผ่านให้กับคนที่ดูแลบัญชีด้วยความไว้ใจ บางคนเป็นญาติกันเอง และไม่ทำตามระบบที่วางไว้ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

นายกฤษณ์ กระแสเวส รองเลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การตรวจจับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และในระบบการเบิกจ่ายของ อบต.จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องรายงานบัญชีที่โอนเงินไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ คนที่จะต้องร่วมตรวจสอบการโอนเงิน ก็จะมอบหมายให้เพียงคนเดียวทำธุรกรรมไปทั้งหมด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง