ครบ 1 ปี “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ทำ 9 ด้าน 9 ดี มีอะไรบ้าง

การเมือง
14 มิ.ย. 66
18:09
8,376
Logo Thai PBS
ครบ 1 ปี “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ทำ 9 ด้าน 9 ดี มีอะไรบ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แถลงข่าว “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ” ชี้แจงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย รวมถึงทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะต่อไป

มาดูกันว่า 9 ด้าน 9 ดี ที่ "ชัชชาติ" ทำไปแล้วมีอะไรบ้าง

"ชัชชาติ" ประเมินผลงาน 1 ปีเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ให้สอบผ่าน 5 เต็ม 10

1.ปลอดภัยดี

แก้ไขจุดเสี่ยงภัยและอาชญากรรม โดยแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ 28,000 ดวง จากไฟที่ดับ 28,100 ดวง เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED 11,400 ดวง คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือน ติดตั้งกล้องป้องกันอาชญากรรม 160 กล้อง รวมเป็น 60,972 กล้อง

ตรวจสถานประกอบการกลางคืนกว่า 300 แห่ง ปรับปรุงทางม้าลาย โดยทาสีขาว 378 แห่ง ทาสีแดง 156 แห่ง ติดไฟปุ่มกดข้ามถนน 52 แห่ง ติดไฟกระพริบ 50 แห่ง รวบรวมฐานข้อมูลเมือง 28 ชุด รวบเป็น 5 Risk Map ประกอบด้วย จุดเสี่ยงน้ำท่วม อัคคีภัย ฝุ่น ทรัพย์สิน และสารเคมี รวมถึงมีการนำแบบแปลนอาคารเข้าระบบแล้วกว่า 5,000 แห่ง

2.โปร่งใสดี

หัวใจของความโปร่งใสคือการนำ Traffy Fondue เข้ามาใช้ หากพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เรื่องเวลาก็รวมอยู่ด้วย การที่เราไม่แก้ปัญหาให้รวดเร็วเหมือนเราทุจริตเวลาของประชาชน เพราะเขาต้องอยู่กับปัญหาความยากลำบาก ซึ่ง Traffy Fondue เป็นพลังที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานของกทม.

ทำให้ข้าราชการและบุคลากรของ กทม.ตื่นตัวอย่างรุนแรง โดยมีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาประมาณ 300,000 เรื่อง แก้เสร็จแล้ว 200,000 เรื่อง และมีการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ มีการเปิดเผยชุดข้อมูลจากเดิม 400 ชุดข้อมูล ปัจจุบันเปิดเผย 720 ชุดข้อมูล ตามความต้องการของประชาชน

3.เศรษฐกิจดี

เพิ่มโอกาสตลาดแรงงานและมีการฝึกอาชีพคนเมือง ด้วยการดึงความร่วมมือจากเอกชนร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพ พร้อมเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ เช่น หลักสูตรแม่บ้านโรงแรม หลักสูตร Caregiver ดูแลผู้สูงอายุ มีการจัดระบบสอบ โดยรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการครั้งแรกของหน่วยงานรัฐ 9 อัตรา

สร้างการจ้างงานในคนพิการ ร่วมมือกับกรุงไทย ออกสินเชื่อช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่ฯ เพิ่มพื้นที่ Hawker Center ตลาดค้าขาย ปรับสัดส่วนคณะกรรมการหาบเร่ฯ ให้มีส่วนร่วมจาก ผู้ค้า ประชาชน และนักวิชาการมากขึ้น

4.เดินทางดี

ปรับปรุงทางเท้า 221.47 กม. ให้มีมาตรฐานทางเท้าใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้ทางเท้าแข็งแรงขึ้น มีการปรับลานทางเดินเลียบคลองแสนแสบ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เป็น Universal Design

มีการยุบ รวม ย้าย ผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน คืนทางเท้าให้ประชาชน 140 จุด เพิ่มความคล่องตัวการเดินทางด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น จัดเทศกิจช่วยดูแลจราจร 890 จุดทุกวัน มีการติดตั้ง CCTV กวดขันวินัยจราจร รวม 30 จุด จับผู้ทำผิดกว่า 400 ราย

5.สิ่งแวดล้อมดี

ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยปลูกแล้ว 400,000 ต้น สวน 15 นาที เริ่มดำเนินการกว่า 100 แห่ง เพิ่มแล้วเสร็จ 28 แห่ง (26 ไร่) มี Pet Park 5 แห่ง ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงมาใช้แล้วมากกว่า 4,500 ตัว

การจัดการอากาศ กทม.มีการตรวจฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ ตรวจควันดำ 131,537 คัน รวบรวมเซนเซอร์ฝุ่นเข้าระบบ 622 จุด มีโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย ขยะลดลง 300-700 ตัน/วัน ประหยัดงบประมาณไปในหลัก 100 ล้านบาท

6.สุขภาพดี

สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล อาทิ เปิด 22 คลินิกเพศหลากหลาย ให้บริการกว่า 5,900 ครั้ง มี Motorlance หน่วยมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน 50 คัน ครอบคลุม 50 เขต เพื่อให้เข้าถึงเหตุได้เร็วภายใน 8 นาที มีการนำร่องให้บริการหมอถึงชุมชนผ่าน Mobile Medical Unit ใน 104 ชุมชน ให้บริการมากกว่า 4,000 ครั้ง

มีนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยระยะฟื้นฟูรักษาในชุมชน 18,654 เตียง ที่เข้าระบบสุขภาพของ กทม. ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลไปเยี่ยมทุกเดือน

7.สังคมดี

เปิดพื้นที่สาธารณะ 21 แห่ง เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย จัดดนตรีในสวน 13 สวน 51 ครั้ง 156 วงดนตรี ทำให้ประชาชนที่มาออกกำลังกายได้ฟังดนตรีไปด้วย เปิดพื้นที่แสดงดนตรี Bangkok Street Performer 12 จุด มีคนมาแสดงมากกว่า 200 วง

สนับสนุนเงื่อนไขการดำรงชีพคนไร้บ้าน คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดจุดบริการคนไร้บ้าน (Drop In) เรื่อง อาหาร งาน รักษาพยาบาล ตัดผม อาบน้ำ ทำบัตรประชาชน แจกอาหารไปมากกว่า 17,000 กล่อง

8.เรียนดี

ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กเล็กก่อนวัยเรียน (2-6 ปี) โดยการปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมจาก 20 เป็น 32 บาท สำหรับเด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ให้ค่าวัสดุอุปกรณ์จาก 100 เป็น 600 บาท ทำให้เราสามารถดูแลเด็กก่อนวัยเรียนได้ดีขึ้น

นำระบบ Google Classroom เข้ามาใช้ในโรงเรียน กทม. (Active learning) จะเห็นว่าเรื่องเรียนดีมีเรื่องที่น่าสนุกมากมาย เชื่อว่าในปีที่ 2 จะขยายผลไปได้อีกหลายเรื่อง

9.บริหารจัดการดี

พัฒนาระบบงาน เงิน คน และระเบียบให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรงบกลาง กว่า 5,024 ล้านบาท ลงเส้นเลือดฝอย เพื่อปรับปรุงเขตที่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและเรื่องถนน และจัดสรรงบ 200,000 บาทต่อชุมชน ซึ่งทางสภากรุงเทพมหานครจัดสรรงบให้มา

ทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานกวาด 9,079 คน ที่ดินใน กทม. 99.42% ถูกประเมินเพื่อจัดเก็บภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านข่าวอื่นๆ

สตม.ชี้หาก "ทักษิณ" กลับไทย ทำตามขั้นตอนผู้มีหมายจับ

ครบ 1 เดือนเลือกตั้ง "พิธา" กลางหมอกควันการเมือง

"วีระ" ทวงความคืบหน้า ป.ป.ช. ปม รถหรูเรืองไกร 2 ปีไม่คืบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง