จับ จนท.กรมศุลกากร นำปลาแช่แข็งของกลางขายให้แพปลา

อาชญากรรม
15 มิ.ย. 66
12:45
2,732
Logo Thai PBS
จับ จนท.กรมศุลกากร นำปลาแช่แข็งของกลางขายให้แพปลา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจ-กรมศุลกากร แถลงจับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร-เจ้าของแพปลา 7 คน ลักลอบนำปลาแช่แข็งของกลางในคดียึดเรือผิด IUU มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ขายปันส่วนให้แพปลาเพียง 2.7 ล้านบาท

วันนี้ (15 มิ.ย.2566) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยนายพัชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงถึงการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ลักลอบขายปันส่วนสัตว์น้ำแช่แข็งที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยผ่านเรือประมงที่ผิดกฎหมาย IUU จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักประมาณ 147 ตัน

อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เรือลำดังกล่าวเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2562 ต้นทางมาจากประเทศโซมาเลีย โดยเป็นเรือ 2 สัญชาติ ที่ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนปลาแช่แข็งที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์รัฐบาลโซมาเลียไม่มีเอกสารรองรับที่มาของแหล่งสัตว์น้ำ คาดว่าเป็นการทำประมงแบบผิดกฎหมาย

เมื่อเรือดังกล่าวเข้ามาในไทยก็จะต้องผ่านพิธีทางศุลกากร แต่เมื่อไม่พบเอกสารยืนยันเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจึงมีคำสั่งให้ขายปันส่วน ซึ่งตามกฎหมายสามารถขายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น ไม่สามารถขายต่อให้พ่อค้าเพื่อนำไปทำการค้าต่อ

แต่เมื่อการตรวจสอบเอกสารรายงานการขายปันส่วนสัตว์น้ำแล้วพบว่า นายกีรติ หัวหน้าฝ่ายของกลางและของตกค้าง ซึ่งเป็นหัวหน้าการขายปันส่วนสัตว์น้ำ ได้ทำรายงานเท็จโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นที่อ้างว่าเป็นชาวบ้าน 98 คน มาซื้อปลาไป แต่ที่จริงแล้วได้ขายปลาแช่แข็งให้กับแม่ค้ารายใหญ่ที่ทำแพปลาใน อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร เพียงรายเดียวจำนวน 132 ตัน เป็นเงินกว่า 2,700,000 บาท แต่ได้นำเงินเข้าระบบราชการเพียง 1,800,000 บาท ส่วนที่เหลือกว่า 870,000 บาท ได้แบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน

สำหรับของกลางในคดีที่ยึดได้ครั้งนี้หากคดีสิ้นสุดตามระเบียบแล้ว กรมศุลากากรจะดำเนินการได้ 3 แบบ คือ ประมูล ขายปันส่วน และทำลาย ซึ่งของกลางคดีนี้เป็นปลาเบญจพรรณ ในทะเลน้ำลึกกว่า 30 ชนิด จึงได้ขายปันส่วนและนำเงินเข้าราชการ แต่ครั้งนี้มีการลักลอบทุจริตขายให้กับแม่ค้า ในราคาตามท้องตลาด จึงร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดี

พล.อ.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า หากเรือลำดังกล่าวทำประมงอย่างถูกกฎหมาย และเข้ามาขายในไทยจะสร้างมูลค่าได้กว่า 300-400 ล้านบาท แต่หากทางการไทยไม่ดำเนินคดีกับเรือลำดังกล่าว ก็จะสร้างความเสียหายให้กับการค้าสินค้าประมงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปและอาจได้ธงแดง ซึ่งขณะนี้ไทยได้ธงเขียวในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แรงงานประมงไปแล้ว

ส่วนผู้ต้องหาในคดีนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าของแพปลารวม 7 คน ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งมาให้ตำรวจดำเนินคดี และได้เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ซึ่งเจ้าหน้ารัฐถูกแจ้งข้อหากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง