"ชัชชาติ" เร่งติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวเพิ่ม ยัน ตึกสูง กทม. รับมือได้

สังคม
19 มิ.ย. 66
20:03
443
Logo Thai PBS
"ชัชชาติ" เร่งติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวเพิ่ม ยัน ตึกสูง กทม. รับมือได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม. ร่วมนักวิชการแผ่นดินไหว แถลง ย้ำไม่น่ากังวล หลังพบแรงสะเทือนกว่า 10 เขตใน กทม. เผยตั้งจุดวัดค่าแรงสั่นสะเทือน ไว้ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง แต่ย้ำ ปชช. ต้องตั้งรับเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด

วันนี้ (19 มิ.ย.2566) รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้น อยู่ห่างจาก กทม. ประมาณ 1,500 กิโลเมตร โดย กทม. ได้รับรายงาน รู้สึกสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ เช่น ในเขตจตุจักร, บางรัก, คลองเตย, ลาดพร้าว, บางเขน,ห้วยขวาง, หลักสี่,บางพลัด, หนองแขม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ที่มีอาคารสูง แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย และภาพรวมไม่น่าเป็นห่วง

สำหรับอาคารสูง จะมีการออกแบบตามมาตรฐานอยู่แล้ว ที่ต้องมีความปลอดภัยตามความทันสมัยมากขึ้น โดยการควบคุมอาคารตามที่วิศกรควบคุม ตามมาตรฐานรองรับแผ่นดินไหว ส่วนจะอยู่พื้นที่ตรงไหนที่ก่อสร้างที่มีฐานรากลึก ไม่ว่าจะบนดินเหนียวหรือดินอ่อนคิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร อาคารที่ออกแบบตามมาตรฐานไม่น่าห่วง แต่เป็นห่วงอาคารที่ลักลอบทำ ไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐาน

อ่านข่าว : ระทึก! แผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 6.0 ตึกสูงกทม.-นนทบุรี สั่นไหว

กทม. ติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การเตรียมรับมือแผ่นดินไหว ทาง ทาง กทม. ได้ร่วมกับทีมนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยทำผลศึกษาร่วมกัน เพื่อเตรียมรับมือในอนาคต สำหรับเหตุการณ์ล่าสุด วันนี้ พบว่าเครื่องมือวัด เกิดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ที่รับรู้ได้ ซึ่ง กทม.ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ที่บริเวณชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 ( ดินแดง) และอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ค่าความสั่นสะเทือน ไม่ได้มีผลรุนแรง

สำหรับกฎกระทรวงที่ออกแบบมาครอบคลุมเกี่ยวกับอาคาร ที่ต้องสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว มีมาตั้งแต่ปี 2550 มีจำนวน 2,880 อาคาร และการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารที่รองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ปี 2564 มีจำนวน 141 อาคาร รวมแล้ว 3,021 อาคาร แต่ยังมีอาคารที่สร้างก่อนหน้าปี 2550 มีจำนวน 11,482 อาคาร เป็นอาคารสูงตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพราะก่อสร้างไว้เผื่อรองรับปะทะแรงลมไว้ด้วยอยู่แล้ว

ตอนนี้ อาคารที่ออกแบบใน กทม. มีมาตรฐาน ยกระดับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ความสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ค่อนข้างสูง

อาคาร กทม. ออกแบบต้านทานแผ่นดินไหว

ด้าน รศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินไหวของ วสท (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) / วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาคารที่สูงกว่า มีโอกาสรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า และโยกตัวมากกว่า ที่อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกได้ แต่อาคารเตี้ยอาจไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ไกล ทำให้ผลกระทบที่เกิดในกรุงเทพ ไม่น่าเป็นห่วง ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ต่ำกว่าอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพออกแบบไว้ ต้านทานได้ ไม่มีปัญหา ไม่มีประเด็นที่เราจะต้องเป็นห่วงอะไรมาก แต่ถือว่าเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเรื่องการอพยพ หรือ การเผชิญเหตุด้านแผ่นดินไหว

สำหรับการออกแบบอาคารในอดีต มีข้อกำหนดมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าอาคารแต่ละแบบ ต้องออกแบบอย่างไร เพื่อรองรับการเขย่าของแผ่นดินไหว ซึ่งมีมาตรฐานสูงมากพอการรองรับแผ่นดินไหวได้

ถ้าเกิดแรงสั่นสะเทือนแบบโคมไฟแกว่ง ตึกจะไม่พัง แต่ถ้าเริ่มเกิดอิฐร้าว แสดงว่าเริ่มรุนแรงแรง แม้อิฐจะร้าว แต่ไม่ได้หมายความว่าตึกจะพังถล่ม แต่ถ้าจะถึงขั้นพังถล่ม ต้องแตกร้าวถึงระดับแตกร้าวไปถึงคอนกรีต แต่ครั้งนี้แค่โคมไฟแกว่ง ดังนั้น ทุกคนมั่นใจได้

สำหรับรอยเลื่อนที่คาดว่าจะมีผลต่อ กทม.โดยตรง ทางกรมทรัพยากรธรณี เคยให้ข้อมูลว่า แนวรอยเลื่อนต่างๆ มี 10 กว่าแห่งในภาคอื่นๆ แต่รอยเลื่อนที่จะมีผลต่อ กทม. คือ รอยเลื่อนที่อยู่ในบริเวณกาญจนบุรี ที่อยู่ใกล้ กทม. มากสุด ประมาณกว่า 100 กิโลเมตร แต่มาตรฐานการออกแบบอาคารรุ่นล่าสุด ได้คำนึงถึงรอยเลื่อนที่อาจเกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรีด้วยแล้ว ซึ่ง กทม.รองรับได้หากเกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดกาญจนบุรี เต็มที่ ประมาณ ระดับ 7 ปลายๆ

อ่านข่าว : เปิดสถิติ 10 ครั้งหลังสุดแผ่นดินไหวในไทย "ภาคเหนือ" บ่อยสุด

เล็งติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวเพิ่ม 

ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว ระบุว่า การติดตั้งจุดวัดค่าแรงสั่นสะเทือนไว้ที่อาคารธานีนพรัตน์ ทำให้เห็นค่าที่พีคอยู่ที่ 3.5 PGD โดยเฉลี่ย ซึ่งคนอยู่ในอาคารอาจรู้สึกบ้าง แต่แง่ความปลอดภัยที่ถึงส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง อาจต้องมีระดับความรุนแรง ถึงมากกว่า 10 -20 PGD ซึ่งครั้งนี้ จะเห็นว่า ตัวเลขยังต่ำกว่าหลายเท่า อาคารยังปลอดภัยอยู่แน่นอน ไม่ต้องกังวล

สำหรับอนาคตหากมีการติดตั้งตัววัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว เพิ่มเติมตามอาคาร หรือ สถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้อ่านค่าแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดเหตุได้ อนาคตจะมีอาคารที่สามารถรับรู้แรงสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว มากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบอย่างไร และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานอาคารได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์

กทม. เร่งสำรวจโครงสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การสำรวจโครงสร้างอาคาร ทาง กทม. ได้เคยสำรวจมาแล้ว หลังจากที่ทีมบริหาร กทม. รับตำแหน่งได้ประมาณ 6 เดือนแรก เพื่อสำรวจดูจำนวน และสภาพที่ตั้ง และ โครงสร้างอาคาร เพื่อรองรับเรื่องแผ่นดินไหว และได้สำรวจโครงสร้างเป็นระยะ

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทาง กทม. มีเครื่องมือในการจับวัดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเท่าที่ระบบที่ประเทศไทยมี คือ ระบบการแจ้งเตือนไลน์ อะเลิต ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกัน ซึ่ง กทม.ได้เชื่อมไลน์ อะเลิต เกี่ยวกับประเด็น ฝุ่น PM2.5 ไว้อยู่ แต่อนาคต จะต้องเชื่อมเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวไว้ด้วย เพื่อให้หลังเกิดเหตุ ทางสำนักงานเขตแต่ละเขตจะได้ออกไปสำรวจผลกระทบประชาชน หรือ แรงสั่นไหวได้

นอกจากนั้น คือ การปฏิบัติตัวของ ประชาชนที่ต้องรับมือแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจากอาคารถล่ม หรือ เหตุการณ์อื่นที่อาจมีผลต่อการถล่มได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม.ได้ซักซ้อมเป็นระยะ รวมถึงให้ความรู้เยาวชนคู่ขนานไปด้วย เพราะแม้ว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อ กรุงเทพฯ โดยตรง อาจเป็นเรื่องยาก หรือมีโอกาสน้อยที่จะเกิดระดับที่รุนแรงมาก แต่การเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด การทำผังอาคาร หรือ หากเกิดอันตรายจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในอนาคต แผนการฝึกซ้อมอาคารสูง กทม. ได้เน้นเพิ่มเติมไปด้วย นอกเหนือจากภัยจากอัคคีภัย ซึ่งรวมถึงภัยที่มีความถี่สูงใน กทม. ที่อาจเกิดอันตรายในลักษณะอื่น ก็จะอยู่ในการซ้อมของ กทม. เพิ่มเติมไปด้วย จากปกติ ที่มีการซักซ้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กฟผ.ยืนยัน "แผ่นดินไหวเมียนมา" ไม่กระทบเขื่อนในไทย

รู้จัก "สะกาย" รอยเลื่อนต้นเหตุแผ่นดินไหว 8.0 ในอดีตมีพลังแรงสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง