จัดการคนนอกใจฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ด้วยกฎหมายแพ่ง

สังคม
20 มิ.ย. 66
15:46
6,302
Logo Thai PBS
จัดการคนนอกใจฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ด้วยกฎหมายแพ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงยุติธรรม เสนอวิธีการจัดการผู้ที่นอกใจ โดยใช้กฎหมายแพ่ง ในการฟ้องเรียกค่าทดแทนได้เท่าไหร่นั้น ต้องพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ 10 ข้อ

วันนี้ (20 มิ.ย.2566) จากกรณีมีการนอกใจคู่สมรสของดารานักแสดงและบุคคที่มีชื่อเสียง ไทยพีบีเอส ออนไลน์ พบข้อมูล จากกระทรวงยุติธรรม เสนอแนะวิธีการจัดการคนนอกใจ สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้ ดังนี้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 มีหลักการว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ภริยา หรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น แต่ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการดังกล่าว สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

ทั้งนี้ ค่าทดแทนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควร

หลักพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทน ได้แก่

- ฐานะทางสังคม อาชีพการงาน การศึกษาของทุกฝ่าย ทั้งคู่สมรส และตัวชู้ ซึ่งหากมีฐานะทางสังคมสูง การศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ก็ย่อมมีค่าทดแทนสูงตามไปด้วย

- ระยะเวลาที่แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน ยิ่งนานยิ่งมีค่าทดแทนสูง

- มีการจัดงานแต่งงานหรือไม่

- การมีบุตรร่วมกัน

- ลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัวก่อนเกิดเหตุการณ์มีชู้

- ความเปิดเผยในการเป็นชู้

- ระยะเวลาเป็นชู้

- ผู้เป็นชู้ รู้หรือไม่ว่ากำลังเป็นชู้

- ความสำนึกผิดหลังถูกจับได้ว่าคบชู้

- มีการฟ้องหย่า เพื่อเรียกทรัพย์สินจากอีกฝ่ายร่วมด้วยหรือไม่

โดยศาลจะพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อกำหนดค่าทดแทน ว่าการคบชู้นั้น ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อชื่อเสียง และครอบครัวมากน้อยแค่ไหน และหากดำเนินการฟ้องชู้ โดยไม่ประสงค์ฟ้องหย่า จะไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสที่คบชู้ได้

การฟ้องชู้ ถือเป็นคดีแพ่ง ต้องพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว โดยกระบวนพิจารณาจะเน้นการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกัน มากกว่าการจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

ข้อมูลในเว็บไซต์ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 10.มี.ค.2566 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ข้อมูลจาก : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 มาตรา 1523 มาตรา 1525

ข่าวที่เกี่ยวข้อง