จับกระแสการเมือง 21 มิ.ย.2566 : กกต.ปล่อยผี 500 ส.ส. “พิธา” ยังลุ้นเหนื่อยไม่เปลี่ยน

การเมือง
21 มิ.ย. 66
14:13
354
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง 21 มิ.ย.2566 : กกต.ปล่อยผี 500 ส.ส. “พิธา” ยังลุ้นเหนื่อยไม่เปลี่ยน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประกาศรับรอง ส.ส.รวดเดียวครบ 500 คน ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 มีนัยอย่างน้อย 4 ประการ

คือ 1.ให้การรับรอง ส.ส.ไปก่อน หรือ “ปล่อยผี” แต่ไม่ใช่ปล่อยแล้วปล่อยเลย จะตามสอยทีหลัง โดยมีกรอบระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้ เพียงแต่จะไม่ใช่อำนาจ กกต. จะเปลี่ยนไปเป็นอำนาจของศาล โดย กกต.ต้องเป็นผู้ส่งเรื่อง

ประการที่ 2 กกต.ไม่ต้องการขวางความต้องการของกระแสสังคม ที่อยากให้ กกต.รับรอง ส.ส.เร็วๆ เพื่อจะได้รัฐบาลเร็วๆ หลังจากมีปฏิกิริยาจากผู้คนทั้งในโลกโซเชียล และไปเยี่ยมถึง กกต.ทวงถามทำไมรับรองช้า แม้ว่าโดยกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่อาจทำให้ได้รัฐบาลได้รวดเร็วเหมือนเมื่อก่อน

ประการที่ 3 เป็นการตีตกคำร้องของนักร้อง (เรียน) ที่ยื่นเรื่องไปยัง กกต. ให้ตรวจสอบ โดยเฉพาะปมการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เพราะเมื่อ กกต.รับรองสถานภาพเป็น ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้ว

ต่อไปการสอยจะเป็นเรื่องของ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ (ในกรณีนายพิธา น่าจะเป็น ส.ส.) หรืออาจเป็น กกต.เอง

หรืออีกด้านหนึ่ง กกต.ดำเนินคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งนักร้อง (เรียน) ไม่สามารถยื่นเรื่องไปที่ศาลได้โดยตรง แต่กระนั้นการพิจารณาเรื่องนี้ของกกต.ก็ได้หัวเชื้อหรือจุดเริ่มต้นมาจากนักร้อง (เรียน) อยู่ก่อน

ประการที่ 4 พ้นจากการติดหล่มที่วนอยู่ในลูปเดิม ๆ มา 2-3 สัปดาห์แล้ว ทั้งเรื่อง ส.ว.จะโหวตให้หรือไม่ เรื่องความเคลื่อนไหวของนักร้อง (เรียน) เรื่องหุ้นไอทีวี เรื่องท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เมื่อกกต.รับรอง ส.ส.แล้ว จะเดินหน้าไปต่อได้เสียที แม้จะยังมีเรื่องให้เผชิญอยู่ข้างหน้าอีกหลายเรื่องก็ตาม

8 พรรคร่วมรัฐบาล ถึงเวลาต้องจัดสรรแบ่งเค้กโควตา และกระทรวงอย่างเป็นทางการเสียที ซึ่งจะหนีใม่พ้น จะมีท่าทีความไม่พอใจจากคนที่ตกขบวนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่มีตำแหน่งบริหารในสภาผู้แทนฯ

เป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง ยิ่งพรรคใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย ได้เรียกระดมขุนพลตั้งแต่สมัยไทยรักไทยกลับคืนถิ่นเก่าถ้วนหน้า แต่จะมีตำแหน่งในครม.และผู้บริหารในสภา ประมาณ 14-16 คนเท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจคือนายพิธาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ในช่วงหวะที่ต้องลุ้นระทึกเช่นนี้ แม้นายพิธาจะได้การรับรองเป็นส.ส.แล้ว แต่เท่ากับต้องเริ่มต้นเจอด่านหินรอบใหม่ โดย กกต.อาจเดินเรื่องตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญา ซึ่งจะใช้เวลานานเป็นปีหรือหลายปี มีโทษทั้งโดนจำคุกและตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ขณะเดียวกัน ก็อาจเจอการเข้าชื่อของ ส.ส. 50 คน ตามมาตรา 82 รัฐธรรมนูญปี 2560 ร้องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. รัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

หากยื่นเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรับเรื่องแล้วด้วยมีเหตุอันควรสงสัย สามารถสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ จะส่งผลต่อนายพิธาหรือไม่ อย่างไร เพราะเจ้าตัวยังมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในการโหวตร่วมของ 2 สภา โดยช่วงเวลาน่าจะคาบเกี่ยวกัน

แม้กูรูบางคนจะอ้างสั่งให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. แต่ไม่ขัดกับคุณสมบัตินายกฯ เพราะไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ขณะที่บางคนแย้งว่า ทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรี จะมีข้อห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อเช่นกัน เท่ากับต้องสะเทือนไปถึงการเป็นนายกฯ ด้วย

ขณะที่ ส.ว.ยังคงเป็นด่านหินสำหรับนายพิธาเช่นเดิม เพราะจนถึงขณะนี้ ไม่มีแนวโน้มว่า ส.ว.ในกลุ่มที่ตั้งป้อมไม่โหวตให้ และในกลุ่มที่จะงดออกเสียง จะเปลี่ยนใจกลับไปโหวตให้นายพิธา เว้นแต่จะมีปาฏิหาริย์จากผู้มากบารมีในแวดวงการเมืองไทย หรืออีกทางหนึ่ง ต้องได้รับการโหวตช่วยจากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่อยู่ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่จำนวนเสียงจะมากพอหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องลุ้นและวัดใจพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย แม้แกนนำในพรรคย้ำว่า จะหนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ต่อไป

แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งกลับไม่ยอมเชื่อ แม้ล่าสุด จะมีข่าวพร้อมแสดงความจริงใจยอมถอยจากเก้าอี้ประธานสภาฯให้พรรคก้าวไกล แต่คล้ายยัง “แทงกั๊ก” อ้างว่าเป็นเพียงข้อเสนอในเชิงหลักการเท่านั้น

ยังไม่นับกรณีนายอดิศร เพียงเกษ คนระดับอาวุโสของพรรคตั้งแต่ไทยรักไทย และเดินสายหาเสียงร่วมเวที “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตลอดการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ยังยืนยันต้อง “กินแบ่งไม่ใช่กินรวบ” เพราะไม่ได้ชนะถล่มทลายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด ทั้งยังพูดกระทุ้งนายภูมิธรรม เวชยชัย ถามเรื่องอย่างนี้ ตัดสินใจโดยแกนนำ 1-2 ในพรรคได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้เห็นนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เดินตามอย่างที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลทำ คือเดินสายพบปะขอบคุณประชาชนในต่างจังหวัดแบบถี่ ๆ แล้วจะห้ามไม่ให้คอการเมืองตั้งข้อสงสัยได้อย่างไร

การเดินหน้าของนายพิธา จึงเป็นเสมือนการเดินหน้าต่อ แต่ตกอยู่ภายใต้วงล้อม โดนดักหน้าดักหลังทั้งจาก กกต. ส.ส.ฝ่ายตรงข้าม ส.ว. รวมแม้กระทั่งจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.แจงประกาศชื่อ "เตอร์ ณธีภัสร์" ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกลเป็นไปตามกฎหมาย

"ประยุทธ์" ทยอยเก็บของกลับบ้าน-หลังไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่ชัด

"กัณวีร์ "ส.ส.ป้ายแดงจากพรรคเป็นธรรม ชูแก้ "ขัดแย้งชายแดนใต้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง