ครั้งแรกในรอบ 100 ปี! แผ่นดินไหวพิษณุโลก พบรอยร้าวบ้าน-วัดราชช้างขวัญ

ภัยพิบัติ
29 มิ.ย. 66
11:34
4,228
Logo Thai PBS
ครั้งแรกในรอบ 100 ปี! แผ่นดินไหวพิษณุโลก พบรอยร้าวบ้าน-วัดราชช้างขวัญ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รอบ 100 ปี! แผ่นดินไหว 4.5 พิษณุโลก จากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง พบรอยร้าวผนังบ้าน และโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ

วันนี้ (29 มิ.ย.2566) ความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางบริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งรอยเลื่อนนี้อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และเลย สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป

อ่านข่าว : แผ่นดินไหวระดับ 4.5 ที่พิษณุโลก สะเทือนหลายจังหวัดเหนือ

พบรอยร้าววัด-บ้าน ต.ราชช้างขวัญ

เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย ผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ ต.ปากทาง อ.เมือง จ.พิจิตร หมู่ที่ 1 ต.ปากทาง อ.เมือง จ.พิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 –5 (เบา-ปานกลาง) ตามมาตราเมอร์คัลลี ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง

กรมทรัพยากรธรณี โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวบริเวณโดยรอบเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวตาม (aftershock) อย่างใกล้ชิด

อ่านข่าว : จับตา! คาดรอยเลื่อนใหม่ Hidden Fault เขย่าพิษณุโลก 4.5

โบราณสถานวัดราชช้างขวัญ จ.พิจิตร เกิดรอยร้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพิจิตร ว่า หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว จ.พิษณุโลก ทำให้ประชาชนใน จ.พิจิตร จากจุดเกิดแผ่นดินไหว ไม่ถึง 10 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในโซเชียลที่มีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกตะหนกตกใจกันเป็นอย่างมาก ที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พระครูพิเศษอรรถสิทธิ์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดราชช้างขวัญ หมู่ที่ 1 ต.ปากทาง อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งวัดแห่งนี้อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเพียง 7 กิโลเมตร ทำการสำรวจโบราณสถานในวัด โดยเฉพาะอุโบสถหลังเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2461 และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากร และเพิ่งจะมีการบูรณะไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดรอยร้าวในเบื้องต้นกว่า 6 จุด ซึ่งเป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นใหม่

พระครูพิเศษอรรถสิทธิ์ กล่าวว่า สามารถที่จะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ตนเองจำวัด ก็มีเสียงคล้ายอะไรตกลงมา แต่ตื่นมาก็ไม่มี ในส่วนของรอยร้าวก็จะทำหนังสือให้กรมศิลปากร เข้ามาตรวจสอบร่องรอยความเสียหาย

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

อุตุฯ แถลงแผ่นดินไหวพิษณุโลกไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนมีพลัง

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แถลงถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault) ซี่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจาก แนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้เสริมว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน

โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดย มีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัว ของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการ ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับ พื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"รอยเลื่อนสะกาย" มีโอกาสแผ่นดินไหวแรง 7.5 ในอดีตเขย่า 668 ครั้งขนาด 2.9-7.0

เปิดสถิติ 10 ครั้งหลังสุดแผ่นดินไหวในไทย "ภาคเหนือ" บ่อยสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง