ฟิลิปปินส์ 101 “การกลับมาของตระกูลมาร์กอส”

ต่างประเทศ
29 มิ.ย. 66
12:14
1,454
Logo Thai PBS
ฟิลิปปินส์ 101 “การกลับมาของตระกูลมาร์กอส”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 ปีผ่านกับรัฐบาล “มาร์กอสจูเนียร์” ลูกชายอดีต ปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ ทำความรู้จักการเมืองฟิลิปปินส์ 101 รวมถึงเส้นทางหวนคืนบัลลังก์ตระกูลมาร์กอส ท่ามกลางกระแสโลกจับจ้อง “บองบอง” จะนำพา “ไข่มุกแห่งบูรพา” กลับมาเฉิดฉายได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องรู้กับการเมืองฟิลิปปินส์

1. การเลือกตั้งประธานาธิบดี : ฟิลิปปินส์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก ๆ 6 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วาระเท่านั้น ประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขของรัฐบาล การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2565 และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ ปธน.เฟอร์ดินานด์ บองบอง โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง มาร์กอส”

2. การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ : ฟิลิปปินส์มีสภานิติบัญญัติ หรือ “สภาคองเกรส” เป็นสภาคู่ ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ดํารงตําแหน่งเป็นเวลา 6 ปี มีจำนวนสภาละ 12 คน สภาคองเกรสแต่งตั้งเพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร เป็นกลไกตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ที่ ปธน.เป็นผู้แต่งตั้ง เช่น เจ้าหน้าที่ในกองทัพหรือกระทรวงต่าง ๆ การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

3. การลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง : พลเมืองฟิลิปปินส์ที่มีอายุเกิน 18 ปีและมีที่อยู่อาศัยในฟิลิปปินส์ จะเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

4. บัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ : ฟิลิปปินส์มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันจันทร์ที่สองของเดือน พ.ค. ทุก 6 ปี ประชาชนจะเลือกตั้งได้ทั้งประธานาธิบดี, รองประธานาธิบดี, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปจนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น

การจัดระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ ทำให้เกิดความหลากหลายในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอย่างมาก ปธน. และรอง ปธน. อาจจะไม่ได้มาจากพรรคเดียวกันอย่างที่เคยเกิดในรัฐบาลของ ปธน.โรดริโก ดูเตอร์เต และรอง ปธน.เลนี โรเบรโด ผู้นำรัฐบาลก่อนรัฐบาลปัจจุบัน

ด้วยนโยบายทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาฟิลิปปินส์ ชาวฟิลิปปินส์หลายคนมองว่า ความไม่ลงรอยกันจากผู้นำที่มาจากคนละพรรค ทำให้ฟิลิปปินส์เดินไปข้างหน้าช้ามาก

การจับมือกันของ 2 ตระกูลเก่าแก่ทางการเมือง

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 ประชาชนจึงพร้อมเทคะแนนให้กับ “บองบอง มาร์กอส” ลูกชายเพียงคนเดียวของอดีต ปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ได้ชื่อ “จอมเผด็จการ” ที่ทำให้ฟิลิปปินส์ตกอยู่ในยุคมืดกว่า 20 ปี

บองบอง หาเสียงกับประชาชน ให้คำมั่นว่าพร้อมพลิกโฉมฟิลิปปินส์ให้กลับมารุ่งเรือง ก้าวข้ามทุกความขัดแย้ง รวบรวมความสามัคคีคนในชาติ รวมถึงการจับมือกับ “ซารา ดูเตอร์เต–คาร์ปิโอ” ลูกสาวของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ทายาทตระกูลทางการเมืองเก่าแก่อีกตระกูลหนึ่ง จนในที่สุด บองบอง คว้าตำแหน่ง ปธน.คนที่ 17 ของฟิลิปปินส์ ในขณะที่ ซารา คว้ารอง ปธน.

“มาร์กอส” ทวงบัลลังก์

ในปี 2529 มาร์กอสผู้พ่อ ต้องหนีออกจากฟิลิปปินส์ ลี้ภัยสู่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา เพราะถูกคนฟิลิปปินส์ลงถนนประท้วงขับไล่ หลังประเทศถูกปกครองแบบเผด็จการตลอด 21 ปี มีการคอร์รัปชันเงินราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถูกขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่โกงมากที่สุด รองจากอดีต ปธน.ซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย

การกลับมาทวงบัลลังก์ของตระกูลมาร์กอส ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กังวลว่า เรื่องราวในอดีตของ “มาร์กอสผู้พ่อ” จะส่งต่อมาถึง “มาร์กอสจูเนียร์” หรือไม่นั้น

แต่สำหรับคนฟิลิปปินส์ที่เบื่อหน่ายกับรัฐบาลชุดก่อน รวมถึงการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ทางการเมืองผ่านระบบการศึกษาที่ไม่ได้ถูกส่งต่อมาทั้งหมด คงต้องให้เวลาอีก 5 ปีที่เหลือเป็นตัวชี้วัดว่าครั้งนี้ บองบอง จะสามารถลบล้างอดีตที่ฝังแน่นในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ได้ อย่างที่เขาประกาศชัดในวันที่เอาชนะการเลือกตั้งไว้ได้หรือไม่

จงตัดสินผมจากผลงาน หาใช่บรรพบุรุษไม่

ติดตามสารคดีเชิงข่าว “BBM มาร์กอสคืนบัลลังก์ ภารกิจ 36 ปี ยึดเก้าอี้ผู้นำ” ที่นี่เร็วๆ นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง