เปิดวิธีการใช้งาน-เก็บ “ถังดับเพลิง” อย่างไรให้ปลอดภัย

สังคม
30 มิ.ย. 66
09:23
5,628
Logo Thai PBS
เปิดวิธีการใช้งาน-เก็บ “ถังดับเพลิง” อย่างไรให้ปลอดภัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุการณ์สลดถังดับเพลิงระเบิด ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจและตั้งคำถามว่า “ถังดับเพลิงปลอดภัย” เป็นอย่างไร หรือควรดูแลถังดับเพลิงอย่างไรให้ปลอดภัย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบความปลอดภัยของถังดับเพลิงใกล้ตัวเบื้องต้น โดยสอบถามจาก นายกัมพล เลิศเกรียงไกรยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอน เคมิคอล จำกัด ผู้ผลิตและนำเข้าถังดับเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้ง ซ่อมบำรุง รวมไปถึงการบริการทดสอบถังดับเพลิงด้วยแรงดันน้ำ (Hydrostatic Test)

นายกัมพล กล่าวว่า ถังดับเพลิงแต่ละชนิด มีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของไฟ และสถานที่การใช้งาน ผู้ติดตั้งควรเลือกชนิดของถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งาน

ประเภทถังดับเพลิงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. และการเลือกใช้งานให้เหมาะสม

1.ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
ผ่านมาตรฐาน มอก. 332-2537 เหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงประเภท B ที่เกิดจากของเหลวหรือก๊าชไวไฟ เช่น ก๊าช ไข น้ำมัน เป็นประเภทถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เมื่อใช้งานอาจมีควันมาก

เมื่อเปิดใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้แล้ว 1 ครั้ง ไม่ว่าจะใช้งานหมดหรือไม่ จะไม่สามารถใช้งานอีกครั้งได้ เพราะแรงดันภายในถังดับเพลิงลดลง จำเป็นต้องส่งให้บริษัททำการบรรจุแรงดันใหม่

2.ถังดับเพลิงชนิดโฟม
ผ่านมาตรฐาน มอก. 882-2532 เหมาะสำหรับการใช้ดับเพลิง ประเภท A ที่เกิดจากวัตถุติดไฟทั่วไป เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก และเพลิงประเภท B ไม่ควรใช้ดับไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะว่าโฟมมีส่วนผสมของน้ำซึ่งเป็นสื่อในการนำไฟฟ้า

3.ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
มีมาตรฐานภาคสมัครใจ หรือ มอก. 881-2532 ผู้ใช้งานควรจะรับทราบข้อปฏิบัติ ในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้ และควรจะผ่านการฝึกฝนการดับเพลิงมาก่อน เพราะมีการอัดแก๊สแรงดันสูงเข้าไปในตัวถัง จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้งานและการตรวจเช็คสภาพถังอย่างต่อเนื่อง

ถังดับเพลิงชนิด CO2 เหมาะสำหรับสถานประกอบการ หรือสำนักงาน ที่ต้องการรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากละอองดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย

ไม่ควรใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้ในพื้นที่แคบ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนภายในบริเวณนั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้

นอกจากนี้ผู้ติดตั้งควรตรวจสอบสภาพการใช้งานภายนอก ของถังดับเพลิงทุก 1 เดือน และจำเป็นต้องตรวจเช็คถังดับเพลิงภายใน พร้อมกับบรรจุสารเคมีใหม่ทุก 5 ปี ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปีพ.ศ.2555 กำหนดไว้

รู้ได้อย่างไรว่าถังปลอดภัย (วิธีตรวจสอบถังเบื้องต้น)

จากเว็บไซต์ Santo Fire Group กล่าวถึงวิธีการสังเกตลักษณะภายนอกของถังดับเพลิง ดังนี้

- สลักล็อกป้องกันการฉีด ถูกล็อกอยู่กับคันบีบ พร้อมใช้งาน ยืนยันว่าถังดับเพลิงยังไม่ถูกใช้งาน

- สายฉีด ควรตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง สายอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่งอ หากชำรุดจะไม่สามารถกดเพื่อใช้งานดับไฟได้

- ตัวถัง ไม่บวม รั่ว หรือบุบ ไม่ขึ้นสนิม ป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี

- มาตรวัดแรงดัน หรือเกจ์วัดแรงดัน จากถังดับเพลิง 3 ชนิด ที่กล่าวในข้างต้น มีถังดับเพลิงเพียงแค่ 2 ชนิดที่มีมาตรวัดแรงดัน คือถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้งและโฟม หมั่นสังเกตเข็มให้ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว

หากตกไปข้างซ้าย ช่อง Recharge หมายความว่า ตัวถังอยู่ในสภาพแรงดันต่ำกว่า 195 psi ไม่พร้อมใช้งาน ควรติดต่อบริษัท เพื่อทำการเช็คแรงดันและเติมแก๊ส

หากเข็มตกไปทางขวา ช่อง Overcharge หมายความว่า ตัวถังมีค่าแรงดันสูงเกินกำหนด 195 psi อาจเกิดอันตรายได้

หากพบเจอลักษณะข้างต้น ควรแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้า สถานีดับเพลิงทั่วไป กทม. หรือ Traffy Fondue เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจัดเก็บถังดับเพลิง

- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง สามารถตรวจสอบความหนาแน่นของสารเคมี โดยการคว่ำถังดับเพลิง ทุก 6 เดือน ลดการเเข็งตัวของสารเคมี ช่วยคงสภาพเหลวพร้อมใช้งานได้ทุกเมื่อ

- ถังดับเพลิงชนิด CO2 ถึงแม้ว่าไม่เคยผ่านการใช้งาน และตัวถังยังคงอยู่ในสภาพดี ก็ควรตรวจสอบปริมาณก๊าซทุก 6 เดือน โดยการชั่งน้ำหนักตัวถัง หากมีน้ำหนักลดลง ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้งาน ก็อาจเกิดการรั่วไหลของก๊าซภายในตัวถังได้ ควรติดต่อไปยังบริษัทหรือหน่วยงานเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม

ตรวจความปลอดภัยด้วยแรงดันน้ำ (การทำ Hydrostatic Test)

การทดสอบความดันด้วยน้ำ หรือ Hydrostatic Test เป็นการส่งถังดับเพลิงไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของถังดับเพลิง โดยกระบวนการส่งแรงดันน้ำเข้าไปในตัวถัง เพื่อตัวสอบหาจุดรั่ว และความแข็งแรงของถังดับเพลิง ว่าสามารถใช้งานต่อไปได้อีกหรือไม่

นายกัมพล กล่าวว่า ในทุก 5 ปี ผู้ติดตั้งสามารถติดต่อไปยัง บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าถังดับเพลิง เพื่อรับการตรวจสภาพถัง โดยมีค่าใช้จ่าย 500 บาทในการตรวจสอบ ทางบริษัทจะทำการรับถังดับเพลิง และนำถังดับเพลิงอื่นมามอบสำรองให้กับลูกค้า ในระหว่างที่การดำเนินการตรวจสอบยังคงดำเนินอยู่ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท)

จากนั้น บริษัทที่รับเรื่อง จะนำถังดับเพลิงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบ เริ่มจากตรวจสอบภายนอกของตัวถังโดยละเอียด หาจุดผุกร่อนของตัวถัง ทำการถอดหัวฉีด และเทสารเคมีภายในออก เว็ปไซต์ Santo Fire Group กล่าวถึงขั้นตอนการทดสอบต่อไปว่า ผู้ทดสอบจะทำการต่อสายเติมของเหลว 2 ประเภทได้แก่ น้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำจืด ผสมร่วมกับสารคลอรีนในปริมาณไม่เกิน 50 pmm เป็นตัวกลางนำแรงดันน้ำ เข้าสู่ตัวถัง

ทำการอัดแรงดันเข้าไป เพื่อให้ตรวจสอบหาจุดรั่วซึม ปริบวม หรือสภาพความสมบูรณ์ของถังภาชนะรับแรงดัน ว่าสามารถทนแรงดันทดสอบได้หรือไม่

โดยมาตรฐานการทํา Hydrostatic test อยู่ที่ 30 นาที โดยระหว่างการทดลอง ผู้ทดสอบจะทำการค้นหาจุดรั่วซึม หากมีจุดไหนเกิดการรั่วจะทำการยกเลิกทันที

หากไม่เกิดความผิดปกติใดๆ ก็สามารถบรรจุสารเข้าไปใหม่ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการบรรจุสารขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้ และขนาดของบรรจุภัณฑ์

หากบริษัทตรวจสอบ และพบว่าตัวถังเสียหาย มีรอยหรือสนิม ทางบริษัทแนะนำว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนถังใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ติดตั้งถังดับเพลิงอย่างไรให้ปลอดภัย

การจัดเก็บถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้งานถังดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ติดตั้งสามารถจัดเก็บอุปกรณ์ได้ ดังนี้

- ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในที่ชื้น
- ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในพื้นที่มีแดดร้อนส่องถึง อุณหภูมิของถังดับเพลิง ไม่ควรเกิน 49 องศา
- หากวางถังดับเพลิงไว้ภายนอกอาคาร ควรที่จะมีกล่องเก็บถังดับเพลิง ป้องกันมด ความชื้น และความร้อน
- ถังดับเพลิงชนิดเคมีและโฟม หลีกเลี่ยงการตั้งถังดับเพลิงในระยะประชิดกัน 2 ถัง ควรติดตั้งห่างจากกัน 20 เมตร และ ห่างจากพื้น 1.50 เมตร
- ถังดับเพลิงชนิดCO2 ไม่ควรติดตั้งถังดับเพลิงสูงเกิน 1 เมตร โดดเด็ดขาด

การตรวจสอบถังดับเพลิงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ติดตั้ง และประชาชนทั่วไป ที่สามารถช่วยกันตรวจสอบ บำรุงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยนี้ ให้มีสภาพดีปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้งาน และพร้อมใช้งานทุกเมื่อที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

เครดิตภาพ :
ส่วนประกอบถังดับเพลิง - ถังดับเพลิง SATURN โรงงานผู้ผลิต เครื่องดับเพลิง : Inspired by LnwShop.com (saturnfireproduct.com)
Home :: บริษัท นิปปอน เคมิคอล จำกัด (nippon.co.th)
ถังดับเพลิงโฟม น้ำยาโฟมเข้มข้น ราคาพิเศษ คุ้มค่า คุณภาพดี สั่งซื้อง่าย จัดส่งไว (santofire.co.th)
การตรวจสอบถังดับเพลิงว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ - SUPAKORN SAFTY SOLUTION (supakornsafety.com)

เครดิตข้อมูล :
การตรวจสอบถังดับเพลิง เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมใช้เมื่อเกิดเหตุ (santofire.co.th)
hydrostatic test คืออะไร ทดสอบอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร (santofire.co.th)
ถังดับเพลิง ในงานอุตสาหกรรม มีกี่ชนิด - MISUMI Technical Center

ข่าวที่เกี่ยวข้อง