กำไรสองต่อ เพื่อไทย ส่ง "พิเชษฐ์" นั่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2

การเมือง
4 ก.ค. 66
14:44
1,506
Logo Thai PBS
กำไรสองต่อ เพื่อไทย ส่ง "พิเชษฐ์" นั่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กำไรสองต่อสำหรับพรรคเพื่อไทย นอกจากจะได้เก้าอี้ประธานรัฐสภาให้ “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” หรือ “อาจารย์วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติ ไปแล้ว “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยังได้เก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ไปครอง โดย “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล ได้เป็น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1

ต่อแรก ต้องไม่ลืมว่า “วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติ เคยเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มายาว นาน มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง

แม้ต่อมา “วันนอร์” จะมาก่อตั้งพรรคประชาชาติ ปี 2561 แต่เป็นที่รับรู้กันในแวดวงของ ส.ส. เพื่อไทยว่า ไม่ต่างจากพรรคสาขาพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากเพื่อไทยไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เคยเป็นอดีตอธิบดีดีเอสไอในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเคยเป็นอดีตเลขาฯ ศอ.บต. ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังเกษียณอายุราชการ พ.ต.อ.ทวี ได้ร่วมกับ อาจารย์วันนอร์ ก่อตั้งพรรคประชาชาติ กวาด ส.ส. กลุ่มวาดะห์มาไว้ในชายคา

ต่อที่สอง เพื่อไทยส่ง “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ส.ส. เชียงราย วัย 60 ปี เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2

ว่าไปแล้ว “พิเชษฐ์” อาจไม่ใช่สายตรงของ “เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” แห่งวังบัวบานโดยตรง และไม่ได้อยู่ในซุ้มเชียงรายของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พิเชษฐ์” เป็น ส.ส.เชียงราย มานานถึง 5 สมัย และเป็น “ตัวตึง” มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส.เชียงใหม่ และประธานยุทธศาสตร์ด้านการเลือกตั้ง ภาคเหนือตอนบน ปี 2566

ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมือง “พิเชษฐ์” เคยเป็นนายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ และมีบทบาทในการนำผู้ชุมนุมเข้ากรุงเทพ ออกมาต้าน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549

พิเชษฐ์ เข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัวครั้งแรกปี 2544 โดยลง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ลาออก จึงได้ขยับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 77 เมื่อปี 2546 สังกัดพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย เคยเป็นที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ในปี 2550 พิเชษฐ์ลงสมัคร ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งในสังกัดพรรคพลังประชาชนที่มี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อพลังประชาชนถูกยุบ จึงย้ายมาสมัครลง ส.ส. เขตในนามพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

พิเชษฐ์ เคยหวิดวางมวยกับ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ส.ส.พรรคเพื่อไทยในปี 2553 จากกรณีปลอดประสพแถลงแผน พ.ร.บ.ปรองดองโดยไม่ผ่านที่ประชุมพรรค โดยมีการถามกันในที่ประชุมทำให้ ปลอดประสพ ไม่พอใจ ถึงขนาดมีการท้าต่อย แต่ในที่สุด “พิเชษฐ์ และ ปลอดประสพ” ได้มีการปรับความเข้าใจกันในภายหลัง

ในปี 2556 พิเชษฐ์ เคยเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน

ต่อมาปี 2562 พิเชษฐ์ คืนสู่สังเวียนเลือกตั้งอีกครั้ง เป็น ส.ส. เขต จ.เชียงราย โดยระหว่างที่ทำงานการเมืองในสภา พิเชษฐ์มีบทบาทมาตลอดแม้จะไม่โดดเด่น

แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็สามารถทำได้ดี เป็นอีกคนหนึ่งที่มีไหวพริบปฏิภาณดี ที่สำคัญทุกคนในพรรคเห็นว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมในตำแหน่งรองประธานสภาฯ เนื่องจากเป็น ส.ส.อาวุโสถึง 5 สมัย

ก่อนที่พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยจะได้ข้อยุติ เลือก “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นทางเลือกเพื่อยุติความขัดแย้ง เป็น “อดิศร เพียงเกษ และ พิเชษฐ์” จากพรรคเพื่อไทย ที่ประสานเสียงมาตลอดจะไม่ยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ใคร

แม้จะมีท่าทีแข็งขืน แต่เมื่อทุกอย่างสมประโยชน์ “พิเชษฐ์” ก็ถูกเสนอชื่อให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 โดยไร้คู่แข่งและเสียงคัดค้าน

ตำแหน่งดังกล่าวอาจเทียบไม่ได้กับการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ แต่สำหรับนักการเมืองถือว่า “ไม่ขี้เหร่”

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือก ทางเลือกในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 แต่สำหรับ พรรคเพื่อไทยแล้ว หมากเกมการเมืองนี้ซ่อนนัย ได้ “กำไรล้วนๆ ได้ถึง 2 ต่อ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ที่ประชุม ส.ส.เลือก "วันนอร์" ปธ.สภาฯ "ปดิพัทธ์-พิเชษฐ์" รอง ปธ.สภาฯ

"พิธา" เชื่อมั่น "วันนอร์" ลั่นถอย "ประธานสภาฯ" รักษาเอกภาพทำงานพรรคร่วม

มติเอกฉันท์ "วันนอร์" นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง