ขั้วรัฐบาลเดิม "เสียงแตก" เลือกรองประธานสภา เกมวัดใจวันเลือกนายกฯ

การเมือง
4 ก.ค. 66
15:22
299
Logo Thai PBS
ขั้วรัฐบาลเดิม "เสียงแตก" เลือกรองประธานสภา เกมวัดใจวันเลือกนายกฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรก ไม่เพียงพลิกผันเฉพาะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กลายเป็นตัวเลือกในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ คนกลาง หรือประธานสภาปรองดอง

อันเป็นผลจากการถอยคนละก้าวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ที่ตระหนักรู้ว่า “ถ้ายังดึงดันต่อไป เท่ากับเป็นจุดจบของพันธมิตร 8 พรรคการเมือง”

ทั้งคู่ต่างยอมถอย เลือกเอาคนที่มีภาพของความเป็นกลาง ได้รับการยอมรับ แม้แต่กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ขณะที่คุณวุฒิและวัยวุฒิก็เหมาะเจาะลงตัว มีผลงานที่โดดเด่น เมื่อครั้งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ครั้งแรกปี 2539 สมัยสังกัดพรรคความหวังใหม่ ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคและนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ เป็นประธานสภาผู้แทนฯ

มีการจัดระเบียบสภาผู้แทนฯ ใหม่ เข้มเรื่องกฎกติกา และตระหนักในบทบาทหน้าที่ของการเป็นส.ส.ที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี แม้แต่การพกโทรศัพท์มือถือเข้าประชุมสภาฯ ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ใช่นั่งประชุมสภาฯ ไปด้วย คุยโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทั้งที่เป็น ส.ส. ตัวแทนประชาชน ด้านนิติบัญญัติ ไม่ใช่เลือกมาเป็นนักธุรกิจร้อยล้านพันล้าน

จึงเป็นปรากฏการณ์ ที่แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังยอมถอยให้ ไม่ส่ง ส.ส.ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ทำให้ขั้นตอนและเวลาในการเลือกประธานสภาฯ เสร็จสิ้นไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขั้นตอน และเวลาในการโหวตเลือกรองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 นายปดิพัทธ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่เอาชนะนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยคะแนน 312 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง และบัตรเสีย 2 ใบ

ใช้เวลาตั้งแต่แรกเริ่มถกวิธีการ กระทั่งนับคะแนนเสร็จสิ้นเกือบ 3 ชั่วโมง

แต่การชิงเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 มีความน่าสนใจอยู่ในที และอาจมีความหมายในทางการเมือง ที่จะเชื่อมโยงไปถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะขึ้นในอีกไม่นานต่อจากนี้ คือมีคู่ชิงจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

ทั้งที่แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ให้เห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม สำหรับการส่งคนลงประกบเพื่อชิงตำแหน่ง นอกจากการปูดข่าวว่า จะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาฯ ขึ้นชิงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย

ยิ่งนายสุชาติทำตัวสงบนิ่ง ไม่ออกโรงชี้แจงข้อเท็จจริง ว่าเป็นอย่างไร ยิ่งทำให้ตกเป็นเป้าถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น กระทั่ง “มดดำ” คชาภา ตันเจริญ ลูกชายโพสต์ข้อความมีนัยยอมถอนตามคำร้องขอของลูก ข่าวลือดังกล่าวจึงค่อย ๆ สงบลง กระทั่งถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 66 ประชุมสภาฯ นัดแรกเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ไม่มีการเสนอชื่อนายสุชาติแต่อย่างใด

แต่การเสนอชื่อนายวิทยา ชิงเก้าอี้รองประธานสภาฯ ในอีกด้านหนึ่งก็มองได้ว่า เป็นการชิมลางหรือทดสอบความเป็นเอกภาพของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลได้เป็นอย่างดี และยังส่อความหมายด้วยว่า

ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่ไม่ค่อยมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา แท้จริงแล้วก็มีการเจรจาประสานกันอยู่ในที สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจว่า จะส่งคนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

เหตุที่เลือกชิงตำแหน่งรองประธาน ไม่ใช่ตำแหน่งประธาน เพราะอาจประเมินแล้วว่า นายวันมูหะมัดนอร์ ถือเป็นประธานสภาฯ คนกลางที่มีความเหมาะสม เสียงส่วนใหญ่ทั้งใน 8 พรรคและขั้วรัฐบาลเดิมให้การยอมรับอยู่แล้ว หากส่งคนลงประกบ คะแนนที่ได้จากการโหวตแข่ง อาจไม่สะท้อนตัวเลขจริง แต่หากเป็นตำแหน่งรองประธานสภาฯ จะสะท้อนตัวเลขจริง และแสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพแค่ไหนของ 8 พรรคร่วมมากกว่า

เมื่อคะแนนโหวตเลือกนายปดิพัทธ ออกที่ตัวเลข 312 เสียง เท่ากับเสียง ส.ส.8 พรรคร่วมรัฐบาล ยังคงเป็นเอกภาพ เสียงไม่แตก

ตรงกันข้ามกับเสียงโหวตหนุนนายวิทยา ที่ได้เพียง 105 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง เท่ากับเสียงข้างน้อยที่มีอยู่ 187 เสียง กลับเป็นฝ่ายเสียงแตกเสียเอง และมีถึง 77 เสียงที่ไม่เอาด้วย

จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะนำไปใช้พิจารณาประกอบการชี้ขาดว่า จะส่งแคนดิเดทนายกฯ จากขั้วของตน ไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

หากไม่ส่ง ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปลุ้นว่า จะมีเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งส.ว.ว่าจะช่วยโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ รวมกันแล้วเกินกว่า 376 เสียงหรือไม่

หากนัดประชุมรัฐสภาครั้งแรกไม่ผ่าน และไม่มีคู่ชิง ยังสามารถไปลุ้นต่อได้อีกในการประชุมครั้งที่ 2 ที่ 3 ได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังจะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการต่อไป

แต่หากอีกขั้วส่งคนขึ้นประกบ และได้เสียงโหวตสนับสนุนจากส.ว.จนทะลุเป้า 376 เสียง เท่ากับการโหวตเสียงจบลงทันที และจะได้นายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยในสภาฯแทน

ส่วนจะเป็นเสียงข้างน้อยรอยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ในมือ และรอดึงพรรคการเมืองอื่น หรือ กลุ่ม ส.ส.งูเห่ามาเติมเต็มเพื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นต้องติดตามกันต่อไป

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กำไรสองต่อ พท. ส่ง"พิเชษฐ์" นั่งรองปธ.สภาคนที่ 2

"พิธา" เชื่อมั่น "วันนอร์" ลั่นถอย "ประธานสภาฯ" รักษาเอกภาพทำงานพรรคร่วม

ที่ประชุม ส.ส.เลือก "วันนอร์" ปธ.สภาฯ "ปดิพัทธ์-พิเชษฐ์" รอง ปธ.สภาฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง