เล็งใช้กฎหมายคุม "ไข้เลือดออก" หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง 18 จังหวัด

สังคม
24 ก.ค. 66
09:31
3,529
Logo Thai PBS
เล็งใช้กฎหมายคุม "ไข้เลือดออก" หลังยอดผู้ป่วยพุ่ง 18 จังหวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 คน ตั้งแต่ต้นปี 66 ป่วยสะสมเกือบ 40,000 คน โดยเฉพาะ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด เล็งใช้กฎหมายควบคุมโรคเพื่อลดอัตราป่วย-ตาย

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2566 กรมควบคุมโรค รายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงขณะนี้จำนวนเกือบ 40,000 คน และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 40 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการระบาดครั้งล่าสุดในปี 2562 ที่พบผู้ป่วยทั้งปีกว่า 70,000 คนและเสียชีวิตกว่า 70 คน ซึ่งหากจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโรคให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการรายงานพบว่ามีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และกรุงเทพฯ ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก

ทั้งนี้ มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอของ 18 จังหวัดที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อเน้นย้ำให้ทีมงานในพื้นที่เร่งควบคุมป้องกันโรค โดยกรมควบคุมโรคจะทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของ 18 จังหวัดดังกล่าวดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้นในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ (21 ก.ค.-18 ส.ค.2566) รวมทั้งให้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เรียกว่า CDCU plus VCU ในจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรควบคุมป้องกันโรค

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ประกาศกำหนดให้ "โรคไข้เลือดออก" เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่หากมีจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่อง และต้องเพิ่มมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามที่ระบุในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น โรคโควิด-19 ในระยะ 2 ปีแรก

ทั้งนี้ มาตรา 34 (8) จะทำให้ทีมงานสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคได้ เช่น การเข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ ในบ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆ ที่อาจจะเข้าไปไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ และมาตรา 34 (4) (5) (6) ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย และแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ ด้วย

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า หากมีการประกาศพื้นที่โรคระบาดจะช่วยเพิ่มความร่วมมือของประชาชน อสม. เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ภายใต้กลไกของกฎหมายจะทำให้ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญทำให้ประชาชนไทยไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่ป้องกันได้

อ่าวข่าวอื่นๆ

WHO แนะเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 จากน้ำเสีย

โคราช เตือน 2 เดือน เด็กป่วยโรคมือเท้าปาก 264 คน

คิดว่าอ้วน ที่แท้แบก "ถุงน้ำรังไข่" หนัก 9 กก. หมอผ่าตัดสำเร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง