"พิทักษ์ป่า" ผู้ปิดทองหลังพระ ภารกิจรักษาป่าเพื่อคนรุ่นหลัง

สิ่งแวดล้อม
27 ก.ค. 66
10:35
1,190
Logo Thai PBS
"พิทักษ์ป่า" ผู้ปิดทองหลังพระ ภารกิจรักษาป่าเพื่อคนรุ่นหลัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คุยกับ 2 ผู้พิทักษ์ป่า "ปิดทองหลังพระ" เพื่อรักษาบ้านของสัตว์ป่า และปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมส่งต่อให้คนรุ่นหลัง
ผืนป่าใหญ่แค่ไหน ใจผู้พิทักษ์ต้องใหญ่กว่า

แม้เป็นเพียงประโยคสั้นๆ แต่ความหมายนั้นกลับมีคุณค่าและเป็นกำลังใจให้กับฮีโร่ตัวจริง "ผู้พิทักษ์ป่า" คนตัวเล็กนับหมื่นชีวิตที่ทำหน้าที่เฝ้าผืนป่า มรดกอันล้ำค่า บ้านของสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิต แหล่งผลิตอากาศและน้ำสะอาด เพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลัง

"ธรรมนูญ สกุลทอง" พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหนึ่งใน 13,419 อัตรา ชีวิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อุทิศตัวเองและทำงานในตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่ามา 27 ปีเต็ม เริ่มต้นจากการทำงานตำแหน่งลูกจ้างทีโออาร์ ตั้งแต่ปี 2539 จนเพิ่งบรรจุเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2548

ผมบอกได้คำเดียวว่าไม่มีงานไหนที่ไม่เหนื่อย แต่ถ้าเราเลือกปกป้องผืนป่าแล้ว ต้องทำงานเต็มที่แม้จะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ร่วมกับอีกนับหมื่นชีวิต ขับเคลื่อนรักษาป่าให้คนรุ่นหลังได้เห็นอุทยานแห่งชาติคงอยู่ แค่นี้ก็ภูมิใจ

ทุกๆ 15 วัน ธรรมนูญ ในวัย 50 ปี ยังคงทำหน้าที่ลาดตระเวนผืนป่าทับลานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับเพื่อนรุ่นน้องที่ต้องกินนอนในป่า

ธรรมนูญ สกุลทอง พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน

ธรรมนูญ สกุลทอง พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน

ธรรมนูญ สกุลทอง พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน

เขาบอกว่า ผืนป่ากว้างใหญ่ แต่ก็ยังไม่พ้นพวกลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ ทั้งคนไทยและกัมพูชา ซึ่งเป็นความเสี่ยงลำดับต้น เนื่องจากทับลานอยู่ใกล้ประเทศเพื่อนบ้านและมีไม้พะยูง ที่เป็นแรงจูงใจให้เข้ามาลักลอบตัด ส่วนลำดับรองเป็นเรื่องสัตว์ป่าโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ทั้งคนและสัตว์ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำในป่า หลายครั้งที่เผชิญหน้ากับช้างและต้องวิ่งหนีกระเจิง

ประสบการณ์เสี่ยงสุด เคยเจอช้างแม่ลูกอ่อนหวงที่นอนไล่ที่ แม้ว่าจะแบ่งพื้นที่มีแม่น้ำกั้น แต่แม่ช้างไม่ยอม จนต้องย้ายที่นอนกันทั้งชุดกลางดึก ส่วนคนลักลอบมาส่องสัตว์ เคยเจอยกปืนเล็งตอนจะเข้าจับ แต่ของเราเร็วกว่าประชิดตัวปัดปืนออก ไม่ทันปะทะหรือบาดเจ็บ

เงินเดือนขึ้นในรอบ 11 ปี ขวัญกำลังใจ

ธรรมนูญ บอกว่า ในฐานะคนเฝ้าป่า หากถามว่าเคยหมดกำลังใจ ท้อแท้หรือไม่ เขายอมรับว่าการทำงานก็ต้องท้อบ้าง แต่เพราะชีวิตเลือกมาแบบนี้และอยู่ด้วยใจ เราผูกพัน เมื่อออกลาดตระเวนแต่ละครั้งรู้ว่าต้องเผชิญความเสี่ยง แต่เมื่อกลับถึงหน่วยพิทักษ์ป่าอย่างปลอดภัย กลับมาเจอครอบครัว เจ้านายและเพื่อนร่วมทีม ก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว พอพักหายเหนื่อยก็พร้อมลุยต่อ

ผมได้ยินเรื่องขึ้นเงินเดือนในรอบ 11 ปีก็ดีใจ ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่บางครอบครัวอาจจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เป็นขวัญกำลังใจได้ และขอบคุณทุกคนที่มองเห็นผู้ปิดทองหลังพระ วันพิทักษป่าโลก ขอให้สัญญาจะทำด้วยใจที่รักหวงแหนผืนป่า

อ่านข่าว : กรมบัญชีกลาง ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า 11,000 บาทให้มีผล 1 ต.ค.นี้

"สุทธิพร" ชีวิตเพื่อเขาใหญ่และช้าง

เช่นเดียวกับชีวิตของ "สุทธิพร สินค้า" เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมและเฝ้าระวังสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชายรูปร่างเล็ก แต่ใจใหญ่ในวัย 59 ปี ที่มักจะมีภาพถ่ายเคียงข้างกับบรรดา "ช้างเซเล็ป" ในระหว่างภารกิจดูแลช้างป่า คอยกันและต้อนช้างไม่ให้เกิดอันตรายกับช้างและนักท่องเที่ยว

ไม่ว่าจะเป็นพี่โยโย่ พี่ด้วน พี่งาทอง ที่ต้องยอมสยบให้กับพี่สุทธิพร เหตุเพราะมีความคุ้นชินกันมายาวนานกว่า 25 ปี จนเขาได้รับฉายาในหมู่นักถ่ายภาพสัตว์ป่าและช้างบนเขาใหญ่ว่า "ชายผู้สื่อสารกับช้างเขาใหญ่"

สุทธิพร สินค้า เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมและเฝ้าระวังสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

สุทธิพร สินค้า เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมและเฝ้าระวังสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

สุทธิพร สินค้า เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมและเฝ้าระวังสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

แต่สำหรับสุทธิพร กลับมองว่า ช้างที่เขารู้จักและคอยดูแล มันคืองานที่ "เขารัก" การเข้าไปใกล้ช้าง เพราะช้างบนเขาใหญ่คุ้นชินกับถนนและรถที่วิ่งในป่า ทำให้เขาต้องคอยอารักขาคุ้มกันนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าใกล้ และกันช้างเข้ามาเบียดรถ เลยทำให้มีภาพใกล้ชิดกับช้างทุกตัว เพราะถ้าห่างเจ้าช้างก็จะทำเฉยๆ นิ่งๆ ต้องใช้เสียงที่คุ้นคอยปราม

ส่วน "เขาใหญ่" ไม่เพียงเป็นบ้านของเขา แต่เป็นบ้านของทุกๆ คนที่ต้องรักษาเอาไว้ แม้จะต้องทำงานตากแดด ตากฝน เหตุเพราะทำหน้าที่ดูแลช้าง ดูแลป่าบนเขาใหญ่มาค่อนชีวิต และอีกเพียงแค่ 2 เดือนเศษก็จะเกษียณอายุราชการ

ใจหายนะ อยู่บนเขาใหญ่มาตั้งแต่ปี 2542 ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว มีแค่ 2 ปีที่ไปอยู่ที่ตาพระยา แต่ก็กลับมาที่เขาใหญ่จนถึงวันนี้ ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการเมื่อปี 2547 ทำงานได้ทุกวันไม่เหนื่อย เพราะมีความสุข แม้จะมีแค่ประกันสังคมใบเดียว

สุทธิพร บอกพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า ว่ายังอยากดูแลช้างบนเขาใหญ่ต่ออีกสัก 1-2 ปีหลังเกษียณอายุราชการ แต่ไม่รู้ว่าเจ้านายจะมีงบจ้างต่อหรือไม่ ซึ่งถ้าเลือกได้ยังอยากทำงานตรงนี้

ผูกพันกับป่าเขาใหญ่ ได้ทำงานกับธรรมชาติ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลต้นไม้ ดูแลช้าง เป็นความประทับใจ มีความสุขและทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

หากถามในฐานะรุ่นพี่ทำงานดูแลป่า ดูแลสัตว์ป่า สุทธิพร บอกว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและคนที่ทำงานในป่าอุทยานแห่งชาติ ทุกคนคือ "ผู้เสียสละ" ต้องทำด้วยใจ ถ้าไม่มีใจอยู่กับป่าไม่ได้ ต้องทุ่มเท เพราะมีทั้งป่า ทั้งดง ทำงานต้องลุยและไม่ย่อท้อ

กางสถิติ 4 ปี จนท.พิทักษ์ป่าเจ็บ-ตาย 136 คน

สอดคล้องกับคำยืนยันของนายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถือเป็นบุคลากรสำคัญในการคุ้มครอง ปกป้องและรักษาอุทยาน ป่าไม้มรดกล้ำค่า เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ แต่คนกลุ่มนี้ต้องเสียสละอย่างมากกับภารกิจที่เสี่ยงชีวิตกลางป่า

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานตัวเลขเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เนื่องในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ตรงกับวันที่ 31 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าที่มีภารกิจดูแลปกปักษ์รักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งทางบกและทางทะเล และด้วยความทุ่มเททำงานเสี่ยงชีวิต พบว่าช่วงปี 2563-2566 มีเจ้าหน้าพิทักษ์ป่าเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 136 คน

สถิติ 4 ปี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ-เสียชีวิต

สถิติ 4 ปี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ-เสียชีวิต

สถิติ 4 ปี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ-เสียชีวิต

แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 53 คนและบาดเจ็บ 83 คน โดยสาเหตุที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประสบอันตราย มาจากการปะทะกับขบวนการล่าสัตว์ ตัดไม้ อุบัติเหตุระหว่างลาดตระเวน เช่น พลัดตกเขา ต้นไม้หักหล่นทับเจ้าหน้าที่ ถูกไฟไหม้ รวมทั้งเจ็บป่วยจากการลาดตระเวน เช่น หัวใจวายขณะเดินลาดตระเวน ไข้มาลาเรีย และบางครั้งก็โดนสัตว์ป่าทำร้าย เช่น โดนช้างเหยียบ กระทิงขวิด เป็นต้น

ปี 2566 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่กรมอุทยานฯ เสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า 13,419 อัตรา ขยับจาก 9,000 บาทเป็น 11,000 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ หลังปรับครั้งสุดท้ายเมื่อ 11 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นขวัญและกำลังใจสำคัญให้กับบุคลากรกลุ่มนี้

รวมทั้งข้อเสนอในการปรับเพื่มสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และมีการรณรงค์ผ่านโลกออนไลน์ให้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ถือเป็น "อาชีพ" ที่ควรได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อให้มีคนรุ่นใหม่ก้าวสู่ตำแหน่งนี้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุทยานฯ ชงขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าแตะ 1.1 หมื่น ครั้งแรกในรอบ 10 ปี

กรมอุทยานฯ" ผลิต "เสื้อมุ้งนาโน" แจกพิทักษ์ป่าสกัดโรคจากยุง

พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งเสียชีวิต ขณะลาดตระเวนป้องกันคุมไฟป่า

2 จนท.พิทักษ์ป่าเหยียบระเบิดกลางป่าผาแดงบาดเจ็บ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง