รู้จัก "คลื่นทะเลดูด - สีธงริมหาด" คืออะไร ต้องระวังแบบไหน

สังคม
3 ส.ค. 66
17:28
1,767
Logo Thai PBS
 รู้จัก "คลื่นทะเลดูด - สีธงริมหาด" คืออะไร ต้องระวังแบบไหน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมมีคลื่นลมแรง ไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล เสี่ยงถูกกระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูดจมน้ำเสียชีวิต แนะสังเกต "ธง" สัญลักษณ์คำเตือนแต่ละสีบนชายหาด สีอะไรต้องระวังแบบไหน

วันนี้ (3 ส.ค.2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลจะเป็นช่วงหน้ามรสุมในการท่องเที่ยวทางน้ำ ช่วงมรสุมนี้จะอยู่ระหว่างเดือน มิ.ย. - ต.ค. ส่งผลให้ทะเลมีคลื่นลมแรงไม่สามารถเล่นน้ำได้ หรือหากจะเล่นน้ำให้เล่นในบริเวณที่กำหนดไว้และให้ระวังคลื่นลมแรง กระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แทบทุกหาด

กระแสน้ำย้อนกลับ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดอกเห็ด (Rip Current) เป็นกระแสน้ำรุนแรงที่เกิดขึ้นตามชายหาด เกิดจากการที่คลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง แล้วไหลออกสู่ทะเล แต่เจอสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินหรือสันทรายขวางอยู่ ทำให้น้ำทะเลไหลรวมกันผ่านช่องแคบ ๆ ระหว่างสิ่งกีดขวางเหล่านั้น กระแสน้ำจึงพัดออกจากฝั่งด้วยความแรง

ส่วนบริเวณที่เกิด คลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดอกเห็ดนั้น สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำทะเล จะมีสีที่ขุ่นขาวกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดเอาตะกอนใต้น้ำฟุ้งขึ้นมา บริเวณชายหาดจะมีคลื่นแบบไม่ปะติดปะต่อกัน มีลักษณะเป็นร่องแนวคลื่นขาดหายและบริเวณปลายกระแสน้ำ มักเป็นรูปคล้ายดอกเห็ด

6 วัน จมน้ำเสียชีวิต 8 คน

ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การจมน้ำของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. - 2 ส.ค.2566 เพียง 6 วัน พบว่ามีเหตุการณ์การจมน้ำบริเวณทะเลทั้งสิ้น จำนวน 6 เหตุการณ์ เกิดเหตุใน จ.ภูเก็ต 3 เหตุการณ์ ส่วนที่ จ.กระบี่ ระยอง และตรัง จังหวัดละ 1 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 คน เป็นชาวไทย 5 คน ชาวต่างชาติ 3 คน เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 9 - 44 ปี และจมน้ำแต่ไม่เสียชีวิตอีก จำนวน 12 คน

สาเหตุทั้งหมดเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศถึง 4 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีถึง 2 เหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวฝ่าฝืนและลงเล่นน้ำบริเวณจุดปักธงแดงแจ้งเตือนอันตราย ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงมรสุมทำให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกเป็นบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ ทะเลมีคลื่นลมแรง และมีคลื่นสูง ทำให้เสี่ยงจมน้ำได้ง่าย

สังเกตสี "ธง" สัญลักษณ์เตือน ก่อนลงเล่นน้ำทะเล

สำหรับการท่องเที่ยวทะเล นักท่องเที่ยวควรสังเกต "ธง" สัญลักษณ์คำเตือนในการลงเล่นน้ำทะเล ที่ปักไว้บริเวณชายหาด ซึ่งความหมายของธงต่าง ๆ มีดังนี้

  • ธงแดง 2 ผืน มีความอันตรายมาก ห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด
  • ธงแดง 1 ผืน อันตราย ห้ามลงเล่นน้ำ
  • ธงเหลือง ให้เล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง
  • ธงเหลือง-แดง บริเวณนี้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard สามารถเล่นน้ำได้)

แนะ 8 ข้อควรรู้ ลดสูญเสียจมน้ำ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการจมน้ำ จึงมีคำแนะนำ ดังนี้

1. ให้ติดตามสภาพอากาศหรือพยากรณ์อากาศก่อนเดินทางท่องเที่ยว

2. ตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนลงเล่น โดยดูระดับน้ำ ความแรงของคลื่น กระแสน้ำย้อนกลับหรือคลื่นทะเลดูด (Rip Current) รวมถึงสัตว์มีพิษต่าง ๆ

3. เล่นน้ำในบริเวณที่กำหนดไว้ หรือบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard)

4. ไม่เล่นน้ำในบริเวณที่มีป้ายหรือธงสัญลักษณ์เตือนอันตราย บริเวณที่ติดธงแดงจะเป็นบริเวณที่อันตรายห้ามลงเล่นน้ำ

5. หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำบริเวณที่มีสกูตเตอร์ บานาน่าโบ๊ท เจ็ตสกี

6. ไม่เล่นน้ำขณะฝนตกหรือหลังฝนตก

7. สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ

8. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็ก เล่นน้ำหรืออยู่ตามลำพังบริเวณชายหาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง