เถียงวุ่น! "วันนอร์" สั่งเลื่อนถกแก้ รธน. มาตรา 272

การเมือง
4 ส.ค. 66
11:41
776
Logo Thai PBS
เถียงวุ่น! "วันนอร์" สั่งเลื่อนถกแก้ รธน. มาตรา 272
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐสภา เถียงวุ่น หลัง "รังสิมันต์" ผุดเสนอญัตติด่วนทบทวนมติเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำไม่ได้ ประธานรัฐสภาสวนกลับ สภาไม่ควรพิจารณาเรื่องที่อยู่ศาล เพราะผูกพันทุกองค์กร และเป็นเรื่องใหญ่ สุดท้ายสั่งชิงเลื่อนประชุมถกแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272

วันนี้ (4 ส.ค.2566) การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน สส.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ

โดยที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

ทั้งที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ของไทย และที่เป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปในประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ ซึ่งทำให้ขาดความชอบธรรมและอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ

แต่เมื่อถึงเวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่นัดการประชุม ยังมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเข้าร่วมประชุมเพียงแค่ 275 คน ประกอบด้วย สส. 241 คน และ สว. 34 คนเท่านั้น เท่ากับว่า ยังไม่สามารถเปิดการประชุมรัฐสภาได้ เนื่องจากจำนวนสมาชิกรัฐสภายังไม่ถึง 374 คน หรือกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้ 757 คน

จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า วันนี้สถานการณ์การจราจรค่อนข้างติดขัด เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์ขวางอยู่ ทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนเดินทางมาล่าช้า และขณะนี้มีความพยายามของคนบางกลุ่มต้องการที่จะล้มองค์ประชุม จึงขอให้ประธานรอสมาชิกอีกสักครู่ก่อน และระหว่างนี้ ขอให้เปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกได้หารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไข

จากนั้น บรรดา สส.ของพรรคก้าวไกล ต่างสลับลุกขึ้นหารือ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาการเดินทางมาประชุมรัฐสภาไม่สะดวก และประชาชนในละแวกใกล้เคียงก็ยังได้รับผลกระทบกับการตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขวางถนน จึงขอให้ประธานรัฐสภาแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ส่งเจ้าหน้าที่มารื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์ออกไป ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนทั้งของสมาชิกและประชาชน แต่ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก็มีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่

ระหว่างการหารือ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นขอให้เจ้าหน้าที่ติดไฟส่องสว่างบริเวณบัลลังก์ของประธานรัฐสภา ให้สมกับสภาหมื่นล้าน เนื่องจากทุกวันนี้ มองหน้าประธานไม่ชัด ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ตอบกลับอย่างมีอารมณ์ขันทันทีว่า “อย่าติดเลยครับ เดี๋ยวจะเห็นความแก่มากขึ้น” ก่อนจะหัวเราะออกมา

จนกระทั่งในเวลา 10.00 น. ก็ยังมีสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม โดยมี สว.เพียง 43 คน สส. 279 คน รวมมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเพียงแค่ 322 คน ยังไม่ถึงจำนวน 374 คน ทำให้นายรังสิมันต์ ได้ขอให้ประธานรอสมาชิกรัฐสภาอีกสักระยะ เนื่องจากตัวเลขสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ก็อนุญาตให้รอเพื่อให้สมาชิกครบองค์ประชุม

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นหารือเชิงเหน็บ สว.ว่า เมื่อสักครู่นี้ก่อนจะเข้าห้องประชุม เห็น สว.หลายคน ยืนอยู่บริเวณหน้าห้อง ไม่แน่ใจว่า ไม่มีปากกาเซ็นชื่อหรือไม่ จึงไม่ได้มีการลงชื่อเข้าประชุม รบกวนเจ้าหน้าที่สภาหาปากกาให้ สว.ด้วย เพื่อให้สามารถลงชื่อเข้าประชุมได้ เพราะเดี๋ยวประชาชนจะเข้าใจผิดว่า สส.มานั่งรออะไรกัน ต้องบอกตรงๆ ว่า รอ สว. ก่อนที่จะหันไปดูที่หน้าจอแสดงจำนวนสมาชิกและพูดว่า “มากันกี่ท่านครับ ว๊าย! 49 คน”

ต่อมาในเวลา 10.20 น. มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อครบองค์ประชุมเกิน 376 เสียง โดยส่วนใหญ่เป็น สส.กว่า 330 คน ส่วน สว. 62 คน ประธานรัฐสภา จึงแจ้งว่า “ขณะนี้องค์ประชุมครบแล้ว 376 คน เดี๋ยวผมจะได้เปิดประชุม” แต่นายรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้นระบุว่า ขอให้เปิดการประชุมก่อน ตนมีเรื่องจะหารือ ประธานรัฐสภาจึงกล่าวว่า หากจะหารือ ก็ขอให้หารือให้เสร็จก่อน ทำให้นายรังสิมันต์ ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนให้ทบทวนมติเสนอชื่อนายกฯของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่เป็นปัญหาว่าชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถเสนอซ้ำได้หรือไม่

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้สภาไม่ควรดำเนินการ ควรรอฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว สภาเราไม่ควรพิจารณาในเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ยิ่งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ต้องรอ เพราะผูกพันทุกองค์กร เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อขัดแย้งและเป็นความสง่างามของสภา

ขณะที่นายรังสิมันต์ โต้แย้งว่า ญัตติดังกล่าวมีผู้รับรองถูกต้อง จึงขอให้เดินหน้าตามข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาต่อไป

หลังจากถกเถียงเรื่องดังกล่าวนานกว่า 15 นาที ก็มีนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ทักท้วงว่า ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้เปิดการประชุม ญัตติที่นายรังสิมันต์เสนอ ถือว่า ยังไม่ถูกต้อง ทำให้ประธานรัฐสภายอมรับว่า ยังไม่ได้เปิดประชุม จึงได้กล่าว เปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในเวลา 10.38 น.

ซึ่งนายรังสิมันต์ ก็ไม่ย่อท้อ เสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังถูกทักท้วงจากประธานรัฐสภา เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการของศาลจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 16 ส.ค.นี้จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะพิจารณา และไม่ใช่ขั้นตอน หากดำเนินการไปอาจเกิดความเสียหายได้ เพราะประธานรัฐสภาต้องนำรายชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นเกล้าทูลเกล้าฯ ซึ่งเพื่อให้เกิดความไม่ขัดแย้งและสง่างามกับคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยากให้สมาชิกรอศาลก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง แต่นายรังสิมันต์ ยังคงยืนยันว่าได้เสนอญัตติถูกต้องมีผู้รับรองครบถ้วน

สุดท้าย ประธานรัฐสภาขอดำเนินการตามระเบียบการประชุมโดยวาระแรกได้มีการแจ้ง เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคำร้อง ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำในวันที่ 16 ส.ค. และขอเลื่อนเรื่องด่วนเรื่องแรกเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ออกไป

จากนั้นในรังสิมันต์โรมก็ได้รีบเสนอญัตติเพื่อให้ทบทวนมติเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีกรอบ และประธานรัฐสภาก็ได้ย้ำว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง อยากให้สภามีมาตรฐาน และต้องมีหลัก และย้ำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เกรงจะเกิดปัญหากับเราเองเพราะนี่คือกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องใหญ่

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าญัตติของพรรคก้าวไกลเสนอถูกต้องขอให้ประธานสภาดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน และเสนอญัตติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอนายรังสิมันต์

จากนั้นประธานรัฐสภายืนยันว่าญัตตินี้ตกไปแล้วเสนอในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ และหากเดินหน้าก็จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยอีก จึงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์หากจะเดินหน้าต่อ

เช่นเดียวกับนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็เห็นว่าไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ ไม่ใช่เรื่องข้อบังคับการประชุมอย่างเดียว แต่จะขัดต่อรัฐธรรมมตรา 272 วรรค 2 และหากจะนำชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯคนเดิมที่สภาลงมติไม่เห็นชอบกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ขอยกเว้นรัฐธรรมนูญ

นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เห็นด้วยกับการลงมติลบล้างที่เคยลงมติไปแล้ว เพราะไม่มีข้อบังคับให้กระทำได้ ไม่มีเหตุให้ทบทวน ยืนยันว่าการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาชอบที่เห็นว่าไม่สามารถทบทวนได้ เพราะการลงมติของสมาชิกเป็นญัตติซ้ำเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ญัตติที่เสนอให้ทบทวนจึงไม่ชอบ ด้านนายรังสิมันต์ ยังยืนยันจะให้สภาเดินหน้าทบทวนญัตติลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนในท้ายที่สุดนายวันมะหะมัดนอร์

ทั้งนี้ในเวลา 11.27 น. ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาข้อ 22 เลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รัฐสภาถก ปิดสวิตช์ สว. รัฐธรรมนูญ ม.272 คืออะไร ทำไมต้องแก้

'วันนอร์' สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 รอศาลวินิจฉัยปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง