"มูโนะ" ระทม นำเข้า-ส่งออก พลุ ดอกไม้ไฟ ไทยยืน 1 ASEAN

อาชญากรรม
4 ส.ค. 66
17:09
757
Logo Thai PBS
"มูโนะ" ระทม นำเข้า-ส่งออก พลุ ดอกไม้ไฟ ไทยยืน 1 ASEAN
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

โศกนาฏกรรมสลดโกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ระเบิดในชุมชนตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100 คน บ้านเรือนพังกว่า 429 หลังคาเรือน ความเสียหายที่เกิดขึ้นยากประเมินมูลค่า โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจและชีวิตที่สูญเสีย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จึงปล่อยให้มีโกดังเก็บวัตถุอันตรายไว้ในชุมชน แม้จะมีข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2559 ทางกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคยนำกำลังเข้าตรวจค้นโกดังเก็บพลุฯและสินค้าดังกล่าว 5 แห่ง

ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่า โกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟฯ 2 แห่งแรกตั้งอยู่ในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่ยึดพลุและดอกไม้ไฟได้ 28 ตัน ส่วนอีก 3 จุด ก็อยู่ในพื้นที่ ต.มูโนะ อีกเช่นกัน พบว่า 2 ใน 3 แห่งใช้ห้องเช่าเป็นโกดังเก็บสินค้า มี น.ส.ปรียานุช พึ่งวีระวัฒน์ เป็นเจ้าของ (ภรรยานายสมปอง) เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้ถึง 30 ตัน

ส่วนอีก 1 จุด เป็นอาคารพาณิชย์ชั้นเดียวในมูโนะเช่นกัน ยึดของกลางได้ 2 ตัน เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางทั้งหมดรวม 60 ตัน ตรวจสอบเส้นทางนำเข้าพลุ ดอกไม้ไฟพบว่ามาจากประเทศจีน

ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าของสินค้าทั้ง 3 ราย ในข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนฯ ครอบครองดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และนำดอกไม้เพลิงเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

“จีน” ปท.ต้นทางผู้ผลิตดอกไม้ไฟส่งออก

จีนเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกดอกไม้ไฟและประทัดมากที่สุดในโลก การผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของโลก และมีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ เยอรมัน อินโดนีเซีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงไทยที่จีนส่งออกมากเป็นอันดับ 4

แหล่งผลิตดอกไม้ไฟและประทัดส่วนใหญ่ของจีนอยู่ที่มณฑลหูหนาน เมืองหลิวหยางและเมืองหลี่หลิง มณฑลเจียงซี ที่ อำเภอวานไจ่ เมืองผิงเซียง และอำเภอซ่างลี่ และเขตกว่างซี เมืองเป๋ยไห่

สำหรับเมืองที่ส่งออกดอกไม้ไฟและประทัดมากที่สุดในจีน คือ เซี่ยงไฮ้ รองลงมาคือหูหนานและกว่างซี อย่าง ไรก็ตาม เซี่ยงไฮ้นั้นไม่ใช่เมืองแห่งผู้ผลิต แต่เป็นประตูส่งออกที่สำคัญจากแหล่งผลิตในมณฑลหูหนาน เจียงซีและกว่างซี

และหูหนานคือแหล่งผลิตและส่งออกดอกไม้ไฟและประทัดที่ใหญ่ที่สุดในจีน แม้จีนจะมีโรงงานผลิตดอกไม้ไฟส่งออกจำนวนมากตามเมืองต่างๆ แต่ในจีนเองก็มีเหตุระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อปี 2557 เหตุเกิดที่โรงงาน ผลิตดอกไม้ไฟส่งออกหนานหยาง ในมณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน

และในปี 2563 โรงงานผลิตดอกไฟใน เมืองกวงฮั่น มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ปะทุขึ้นมา 2 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตอีกเช่นเดียวกัน

เปิดเส้นทางนำเข้า-ส่งออก พลุ ดอกไม้ไฟ

เปิดเส้นทางนำเข้า-ส่งออก พลุ ดอกไม้ไฟ

เปิดเส้นทางนำเข้า-ส่งออก พลุ ดอกไม้ไฟ

ไทยอันดับ 1 ในอาเซียน นำเข้าพลุ ดอกไม้ไฟ

มีข้อมูลระบุว่านับจากปี 2560-2566 เฉพาะเดือน ม.ค.-มิ.ย. จีน ยังเป็นประเทศอันดับ 1 ในการส่งออกประทัด พลุและดอกไม้ไฟ มูลค่าสูงถึง 1,982 ล้านบาท ตามมาด้วย ฮ่องกง จำนวน 1,304 ล้านบาท เยอรมันนี 348 ล้านบาทและสหรัฐอเมริกา 109 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปีตามเทศกาลสำคัญของแต่ละประเทศ จะมีนำเข้าและส่งออกพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟอย่างต่อเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง

สำหรับไทยจะนำเข้าดอกไม้ไฟและประทัดจากกว่างซี รองลงมาคือ เซี่ยงไฮ้ หูหนาน และยูนนาน อย่างไรก็ตาม แม้เมืองกว่างซีจะเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่รองลงมา แต่การขนส่งจากกว่างซีไปไทยเป็นทางออกติดทะเล ก็สะดวกและเป็นเส้นทางที่ผู้ประกอบการคุ้นเคย สามารถขนส่งสินค้าชนิดอื่น ๆ ไปพร้อมกับดอกไม้ไฟและประทัด จึงได้รับความนิยมมาก

ทั้งนี้มีข้อมูลนำเข้าและส่งออกพลุ ดอกไม้ไฟ และประทัดจากรมศุลกากร ระบุว่า ในกลุ่มประเทศคู่ค้าของกลุ่มอาเซียนพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ที่มีการนำเข้ามากสุดขณะที่กัมพูชา และเวียดนาม อินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นประเทศนำเข้ารองลงมา

ส่วนรายชื่อประเทศที่ส่งออก ไทยยังเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
โดยขนาดเศรษฐกิจพลุ ดอกไม้ไฟในอาเซียน มีมูลค่า 24,033 ล้านบาท ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจพลุ ดอกไม้ไฟในไทย มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออก 9,537 ล้านบาท หรือไทยมีสัดส่วนร้อยละ 39.7 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าส่งออกพลุดอกไม้ไฟทั้งหมดมายังอาเซียน จัดเป็นอันดับที่ 1 ของ ASEAN รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ

200 แห่งทั่วไทยตลาดขายดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด

ข้อมูลจากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560-2566 ระหว่างช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. พบว่ามีนำเข้าพลุเข้าไปจำหน่วยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้ง พลุ ดอกไม้ไฟ พลุสัญญาณ พลุตัดหมอก กว่า 200 แห่ง ในพื้นที่ กทม. มีร้านจำหน่ายวัตถุดังกล่าวกว่า 50 จุด และพื้นที่ปริมณฑล จ.นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สระบุรี ส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เดือนที่นิยมนำเข้าพลุดอกไม้ไฟอยู่ในช่วง พ.ค.-ส.ค. และคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนที่ตรงกับวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีการนำเข้าพลุดอกไม้ไฟปริมาณที่สูงกว่าปกติ

โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. นั้นมีความสัมพันธ์กับวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของช่วงเดือนรอมฎอน-วันฮารีรายอ และวันอีดิลฟิตรี ซึ่งเป็นฤดูกาลเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ที่ผู้คนในท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านนิยมจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลองกันในวันดังกล่าว

สำหรับในเทศกาลถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอนจะมีกำหนดระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน ดังนั้น จึงมีเป็นไปได้ว่าความนิยมจุดพลุดอกไม้ไฟ เพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลดังกล่าวของผู้คนในท้องถิ่นและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

อาจเป็นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจการค้าดอกไม้ไฟ ทั้งถูกและผิดกฎหมาย มีการกักตุนและสร้างคลังจัดเก็บพลุดอกไม้ไฟจนอยู่ในระดับความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินเกินกว่าที่จะคาดการได้

ทั้งนี้การเฉลิมฉลองในช่วงเวลาในรอบ 1 ปีของชาวมุสลิม หลังพ้นเทศกาลถือศีลอดจะมีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ วันอีฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาล หรือตรงกับเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวชหลังจากได้ถือศีลอดตลอดระยะเวลา 1 เดือน นิยมเรียกวันนี้ว่า “วันออกบวช” หรือ “รายาปอซอ” หรือ “รายาฟิตเราะห์”

และวันอีดิลอัฎฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะห หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม โดยช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่ผู้คนในท้องถิ่นจะจุดประทัด จุดพลุดอกไม้ไฟ การจุดประทัดเล่นปืนกระบอกไม้ไผ่ เฉลิมฉลอง เช่นเดียวกับงานเทศกาลบุญต่าง ๆ ทั้งงานบุญบั้งไฟ ออกพรรษา และลอยกระทงฯลฯ

และหากเจ้าหน้าที่ไม่มีการควบคุมและปล่อยปละละเลยรับส่วย ไม่ดูแล โศกนาฏกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำซาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง