กรมอนามัยเฝ้าระวังแหล่งน้ำ "มูโนะ" พบสารประกอบพลุตกค้าง แต่ไม่เกินเกณฑ์

ภูมิภาค
5 ส.ค. 66
10:08
453
Logo Thai PBS
กรมอนามัยเฝ้าระวังแหล่งน้ำ "มูโนะ" พบสารประกอบพลุตกค้าง แต่ไม่เกินเกณฑ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอนามัยเฝ้าระวังแหล่งอาหาร-น้ำในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพลุระเบิดที่ตลาดมูโนะ เผยพบสารตกค้างที่เป็นส่วนประกอบบางชนิดในพลุ แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนผลตรวจบ่อน้ำในพื้นที่รัศมี 100 ม. พบปนเปื้อนเศษดิน-เศษวัสดุ

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ส่งทีมปฏิบัติการฯ (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิดที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารพิษและเชื้อโรคในแหล่งอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทั้ง 3 โซน คือ โซนไข่แดง รัศมีไม่เกิน 100 เมตร, โซนไข่ขาว รัศมีไม่เกิน 100-500 เมตร และโซนกระทะ รัศมีไม่เกิน 500-1,000 เมตร

ผลการตรวจผ่านห้องปฏิบัติการฯ พบมีสารตกค้างที่เป็นส่วนประกอบบางชนิดในพลุ เช่น ไนเตรต ซัลเฟต ทองแดง สังกะสี เปอร์คลอเรต และแบเรียม แต่ค่าไม่สูงและไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับโลหะหนักอื่น เช่น ตะกั่ว พบค่าน้อยมาก ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ใจกลางระเบิดเช่นเดียวกัน แต่ในพื้นที่โซนกระทะ กลับพบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นปริมาณที่มีโดยธรรมชาติหรือปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม โดยทีมปฏิบัติการฯ จะตรวจซ้ำและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นพ.อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ผลการตรวจบ่อน้ำในพื้นที่รัศมี 100 เมตร พบมีการปนเปื้อนเศษดิน เศษวัสดุ สิ่งของในบ่อ ทำให้น้ำมีค่าความขุ่นสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เหมาะจะนำมาใช้อุปโภคและบริโภค ส่วนค่าไนเตรต ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของดินประสิว ค่าทองแดงที่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดสีฟ้าในพลุ จากผลการตรวจทั้ง 3 โซน พบว่า ไม่เกินค่ามาตรฐาน

ขณะนี้ทีมปฏิบัติการฯ ยังให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่และเฝ้าระวังค่าสารเคมีต่าง ๆ พร้อมทั้งตรวจซ้ำเป็นระยะ และเมื่อตรวจแล้วพบว่าไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีจากพลุในน้ำบ่อตื้น ก็จะดำเนินการล้างบ่อตามหลักสุขาภิบาลเพื่อฟื้นฟูบ่อน้ำขึ้นมาใหม่ เนื่องจากสภาพปัจจุบันของบ่อน้ำในพื้นที่รัศมี 100 เมตร เริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็นจากการย่อยสลายของแบคทีเรียที่ปนเปื้อนจากดินและวัสดุต่างๆ ที่ตกลงไปในบ่อน้ำ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดิน จ.ยะลา ได้สนับสนุน EM มาใช้บำบัดเบื้องต้น เพื่อลดการเน่าเสียของน้ำในบ่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โกดังพลุระเบิดนราธิวาส ความเสียหายกินรัศมี 500 เมตร

สธ.เตือนห้ามใช้-ดื่มน้ำในรัศมี 500 ม.โกดังพลุมูโนะระเบิด

เช็กเกณฑ์ช่วย "ผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต-บ้านพัง" เหตุโกดังเก็บพลุระเบิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง