ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือค้านตัด "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ"

เศรษฐกิจ
9 ส.ค. 66
14:13
6,818
Logo Thai PBS
ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือค้านตัด "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการของรัฐสำหรับคนไทยอายุมากกว่า 60 ปี แต่ ก.ค.ที่ผ่านมา ปลัดฯ ก.การคลัง ระบุกำลังศึกษามาตรการลดรายจ่าย หนึ่งในนั้น คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แนวคิดดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจต่อภาคประชาสังคม เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านวันนี้

แม้เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.2566) กระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า เป็นเพียงการศึกษา ยังไม่มีการเสนอตัดเบี้ยยังชีพ แต่วันนี้ (9 ส.ค.2566) ภาคประชาสังคมจาก 3 กลุ่ม ก็ยังคงเดินทางมากระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ เห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า

ภาคประชาสังคมที่มาประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair โดยมีข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ไปเป็นแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน ซึ่งขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
  2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ หากปรับลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,000,000 คน จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประมาณ 11 ล้านคน ถูกตัดสิทธิไปกว่า 6,000,000 คน
  3. การสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ไม่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดสวัสดิการประชาชน ในทางกลับกัน รัฐควรเพิ่มการจัดเก็บรายได้และการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณให้มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า แนวคิดที่มีการเสนอให้ทบทวนผู้ได้รับสิทธิเบี้ยคนชรา เฉพาะในกลุ่มที่เป็นผู้มีฐานะร่ำรวย และไม่ได้มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเบี้ยคนชราในการดำรงชีพ เพื่อนำเงินส่วนต่างที่จะได้มาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย

เป็นเพียงข้อเสนอในเชิงวิชาการที่มีการเสนอเป็นการภายในเท่านั้น หากจะมีการดำเนินการในอนาคต จะต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าหนึ่งในแผนการตัดรายจ่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว คือการตัดงบผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า

ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละ 50,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งหากตัดงบประมาณสำหรับการจ่ายผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป จะช่วยลดงบประมาณได้มาก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่จะต้องไปศึกษาก่อน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ ราว 12 ล้านคน แต่บ่งชี้สัดส่วนผู้สูงอายุที่ร่ำรวยได้ยาก แต่ถ้าพิจารณาจากกลุ่มที่ไม่มีเงินออมเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จะมีประมาณ 7,200,000-9,600,000 คน หรือ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 60-80 

ขณะที่ แผนการแยกผู้สูงอายุที่มีฐานะออกจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ที่สำคัญต้องดูว่าภาครัฐจะนำเครื่องใดมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง ถ้าปรับลดในส่วนผู้สูงอายุที่มีฐานะได้ จะสามารถลดงบประมาณที่ต้องจ่ายราว ร้อยละ 20-40

สำหรับ อัตราการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปัจจุบัน แบ่งเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ

  • อายุ 60 - 69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
  • อายุ 70 - 79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
  • อายุ 80 - 89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท

จากตัวเลขวงเงินงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1-2 ปี วงเงินงบประมาณจะทะลุ 100,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางลดต้นทุน ปรับลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในอดีต กระทรวงการคลังเคยออกมาตรการชักชวนให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

อ่านข่าวเพิ่ม :

ข่าวดี! ลูกจ้างได้เพิ่มวงเงินเจ็บป่วย 6.5 หมื่น-ปรับเงื่อนไขบาดเจ็บศีรษะ

ครม.อุ้ม "ไนท์ซาฟารี" หลังยุบ สนง.พัฒนาพิงคนคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง