เบอร์แปลกอย่ารับ! เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ นศ.เรียกค่าไถ่

อาชญากรรม
11 ส.ค. 66
13:54
4,775
Logo Thai PBS
เบอร์แปลกอย่ารับ! เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ นศ.เรียกค่าไถ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่นักศึกษาให้ถ่ายคลิปเรียกค่าไถ่พ่อแม่ ย้ำไม่ควรรับสายเบอร์แปลก โดยเฉพาะเบอร์ขึ้นต้นด้วย +697, +698

วันนี้ (11 ส.ค.2566) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงินกว่า 20,000 เคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 2,000 เคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน 

แต่ช่วงนี้มี 4 เคสที่มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน โดยมิจฉาชีพใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่ แล้วส่งรูปลูกหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้ไปให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว ลูกหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้นพ่อแม่คาดว่าเป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่

เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนเชิงลึก พบว่า เป็นคดีที่ลูกหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและบังคับให้ถ่ายคลิปหรือภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีลูกหลานของตนเอง หรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป  

สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มมิจฉาชีพใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน

จากนั้นมิจฉาชีพจะทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่กลุ่มมิจฉาชีพจัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป

หากไม่มีเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะแนะนำให้ผู้เสียหายย้ายหรือออกจากห้องพัก หรือที่พักปัจจุบัน และให้ผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้า เพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับมิจฉาชีพ อีกทั้งยังสั่งการให้ผู้เสียหายทำทีปิดโทรศัพท์ และให้ผู้เสียหายใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง ถ่ายคลิปวิดีโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายเอง เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้มิจฉาชีพทางแอปพลิเคชันหรือทางโทรศัพท์

จากนั้นมิจฉาชีพจะส่งคลิปไปให้พ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายโอนเงินต่อไปให้มิจฉาชีพ และ 2. พ่อแม่โอนเงินให้มิจฉาชีพ

ข้อสังเกต-ข้อควรระวัง  

1. มิจฉาชีพอาจหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกผู้เสียหายเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพัก หรือที่พักใกล้สถานศึกษา โดยเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

2. มิจฉาชีพวางแผนและมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้ตกใจกลัว เช่น อ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ

3. มิจฉาชีพใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลัก และมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศ หรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของมิจฉาชีพจะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริง เป็นการสร้างหมายเลขโทรศัพท์ หรือปลอมเบอร์

4. มิจฉาชีพพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม

5. มิจฉาชีพเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการเริ่มลงทุน มีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่าย และข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง

แนวทางป้องกันสำหรับ นร.-นศ.

1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้า ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์

2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับ แล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (มิจฉาชีพสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)

3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.

4. หากมิจฉาชีพให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง

5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที

​6. หากมิจฉาชีพส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง 

สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม ​สำหรับผู้ปกครอง

1. หากมิจฉาชีพข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือโทรสายด่วน 191 ,1441 และเบอร์ 081-866-3000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี

2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้มิจฉาชีพจะเลือกผู้เสียหายที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทัน อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักและห่วงใยลูกหลานของตนเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้

- หลอกให้ผู้เสียหายย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกผู้เสียหายว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่

- หลอกให้ผู้เสียหายลบแอปฯ ที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น เพื่อไม่ให้ติดต่อกับคนอื่น

- หลอกให้ผู้เสียหายปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ติดต่อกับมิจฉาชีพ รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line ของผู้เสียหายผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา

ทั้งนี้ แจ้งเตือนให้ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพที่พัฒนาวิธีหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงรู้เท่าทันภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ โดยสามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com, เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์, หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกมิจฉาชีพหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

อ่านข่าวอื่นๆ

เตือนภัย 7 กลวิธีมิจฉาชีพ "Scam TikTok"

ผู้ประกาศข่าวถูกหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงินสูญกว่า 1 ล้านบาท

เช็กด่วน! 10 แอปมัลแวร์อันตรายบน Android ยอดโหลดทะลุล้านครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง