ผลไลดาร์เขาคลังนอก เปลี่ยนความเข้าใจจาก 'มหาสถูป' สู่ 'มหาวิหาร'

สังคม
14 ส.ค. 66
10:13
6,301
Logo Thai PBS
ผลไลดาร์เขาคลังนอก เปลี่ยนความเข้าใจจาก 'มหาสถูป' สู่ 'มหาวิหาร'
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผลไลดาร์ (LiDAR) รอบเขาคลังนอก เปลี่ยนมิติพื้นที่ จาก 'มหาสถูป' สู่ 'มหาวิหาร' ศูนย์กลางการเรียนรู้ในสมัยโบราณได้อย่างไร ติดตามบทวิเคราะห์จากหัวหน้าทีมสำรวจไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

จาก “มหาสถูป” สู่ “มหาวิหาร” โบราณสถานเขาคลังนอกและศูนย์กลางการเรียนรู้

ภาพการวิเคราะห์ผลไลดาร์พื้นที่มหาสถูปเขาคลังนอก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เผยให้เห็นพื้นที่การกระจายตัวของโบราณสถาน และแหล่งที่เป็นไปได้ว่าเป็นส่วนประกอบของศาสนสถาน รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตรอบๆ เขาคลังนอก ซึ่งทำให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นมากกว่าศาสนสถานในบริบทมหาสถูป

ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ศาสนสถานที่มีมหาสถูปขนาดใหญ่ มีโครงสร้างต่อเนื่องมากมาย จะมีบทบาทอย่างไรในประวัติศาสตร์โบราณคดี

 

ภาพการกระจายตัวของร่องรอยโบราณสถานโดยสังเขป ผู้เขียนขอสงวนรายละเอียดเพื่อความปลอดภัยในการอนุรักษ์โบราณสถาน

ภาพการกระจายตัวของร่องรอยโบราณสถานโดยสังเขป ผู้เขียนขอสงวนรายละเอียดเพื่อความปลอดภัยในการอนุรักษ์โบราณสถาน

ภาพการกระจายตัวของร่องรอยโบราณสถานโดยสังเขป ผู้เขียนขอสงวนรายละเอียดเพื่อความปลอดภัยในการอนุรักษ์โบราณสถาน

 

“มหาวิหาร” ในโลกพุทธศาสนา สมัยเมืองโบราณศรีเทพรุ่งเรือง

“มหาวิหาร” หรือวัดที่ทำหน้าที่เป็นอารามใหญ่ เป็นสถานที่มีการสอนลักษณะโรงเรียนหรือวิทยาลัยที่พบมากในอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10 ถึง 17 โดยทำหน้าที่เป็น “ศาสนสถาน” และ “ศูนย์กลางการเรียนรู้” รวมถึงทำหน้าที่ขยายวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

มหาวิหารหลายแห่งมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อและเผยแผ่ของพุทธศาสนาไปยังที่ต่างๆ และเป็นจุดพักพิงของนักเดินทางในโลกยุคโบราณ มหาวิหารส่วนใหญ่พัฒนาจากอารามหรือวัดเล็กๆ เช่น กลุ่มโบราณสถานที่พบในรัฐพิหาร (Bihar) ประเทศอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 สมัยราชวงศ์คุปตะ (Gupta Period)

การสร้างมหาวิหารเจริญที่สุดในยุคราชวงศ์ปาละระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10 ถึง 17 และรัฐอื่นในสมัยเดียวกัน อาทิ ราชวงศ์จันทรปุระในแถบศรีหัตตาและอารากัน (ทางตะวันออกของประเทศบังกลาเทศไปจนถึงประเทศเมียนมา) โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่รอบๆ ลุ่มแม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรหมบุตร โดยมหาวิหารที่ขึ้นชื่อนั้น มักจะอยู่ในประเทศอินเดียและบังกลาเทศเป็นหลัก 

การสร้างมหาวิหารเกิดจากการแพร่หลายทางคติพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่เน้นการการเข้าถึงพระนิพพานผ่านความเชื่อในพระโพธิสัตว์ ซึ่งปรากฏทั้งสายเถรวาทและมหายาน

ในยุคที่มหาวิหารรุ่งเรืองที่สุด การสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้เช่นวิทยาลัยได้ขยายโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงพุทธศาสนา และพบหนทางหลุดพ้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ เป็นจุดดึงดูดทางพิธีกรรม ช่วยให้ประชาชนเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาผ่านการประกอบพิธีกรรมอันซับซ้อน และถือว่าเป็นการสร้างทานบารมีอย่างหนึ่ง

การเจริญเติบโตของสังคมเมืองที่มีนวัตกรรมการบริหารสูงมากที่สุดของสังคมประวัติศาสตร์ยุคกลางของเอเชียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-17 ยังเป็นอีกหนึ่งที่ทำให้มหาวิหารรุ่งเรืองอย่างมาก โดยพบว่าชนชั้นนำรวบอำนาจได้มาก ทำให้บ้านเมืองจัดการระบบเศรษฐกิจได้มากกว่ายุคความวุ่นวายจากสงคราม นอกจากนี้ กังหันน้ำและระบบการจัดการยุ้งฉาง ยังเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ประชากรชนชั้นกลางขยายตัวค่อนข้างมาก และทำให้เศรษฐกิจการค้าตามลุ่มน้ำต่างๆ ขยายตัว

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพ่อค้าจึงเข้ามามีอำนาจอย่างมากในช่วงราชวงศ์คุปตะและปาละในอินเดีย การบริจาคให้กับวัดเพื่อขยายมหาสถูปและรองรับแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ จึงเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความต้องการสร้างทานและส่งเสริมบารมีการค้า
มหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ (พุทธศตวรรษที่ 9-13) ภาพจาก Wikisource

มหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ (พุทธศตวรรษที่ 9-13) ภาพจาก Wikisource

มหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ (พุทธศตวรรษที่ 9-13) ภาพจาก Wikisource

ภาพจำลองมหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก Rahaman Rafizur

ภาพจำลองมหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก Rahaman Rafizur

ภาพจำลองมหาวิหารโสมปุระในประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก Rahaman Rafizur

  

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อทางพุทธศาสนาก็เริ่มผลักดันอัตลักษณ์ความชอบธรรมของชนชั้นนำและกษัตริย์ ขณะที่ไวษณพนิกายที่เน้นบทบาทของธรรมราชาก็ขยายตัวในหมู่ผู้ที่ไม่ใช่พุทธ กลุ่มชนชั้นนำนิยมทำบุญและแสดงบารมีด้วยการสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โต ส่งผลให้เกิดแนวทางศิลปะและสกุลช่างใหม่จากการสร้างศาสนสถานใหญ่

การเรียนการสอนในมหาวิหารเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่หลักสูตรการเรียนรู้ยังครอบคลุมทั้งปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์ การบัญชี การเกษตร พาณิชย์ การปกครอง ปรัชญาศาสนาที่มีทั้งพุทธและอื่นๆ ไปจนถึงวิชากฎหมาย และงานศิลปะ - งานช่าง

มหาวิหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

แม้ว่าหลักฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงขาดการค้นพบจารึกและเอกสารที่เพียงพอสำหรับการยืนยันสถานะความสำคัญของโบราณสถานหลายแห่งในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้
แต่ก็มีหลายแหล่งที่นักวิชาการมองว่ามีคุณลักษณะที่สามารถประมาณได้ว่าน่าจะเป็น “มหาวิหาร” หรือสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับมหาวิหารที่พบในอินเดีย โดยสังเกตจากพุทธศาสนสถานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาดใหญ่ อยู่ในบริบทของรัฐที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง

ที่สำคัญ คือ สถานที่เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงพระวิหาร อุโบสถ หรือเจดีย์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สื่อถึงการใช้พื้นที่ในทางศาสนสถานเท่านั้น แต่มีส่วนต่อขยายที่สื่อถึงกิจกรรมการอยู่อาศัย มีศิลปะวัตถุที่อาจใช้สำหรับการเรียนรู้ มีมหาสถูปจตุรมุขที่เป็นคติสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับจากความเชื่อแบบมหายาน มีอัตลักษณ์ทางศิลปะที่ชัดเจนจนเป็นสกุลช่าง โดยพบว่าศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เป็นไปได้ว่าอาจเป็นวิทยาลัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ในสมัยการสร้างมหาวิหารเป็นที่นิยม มีดังนี้

แหล่งโบราณคดี Maura Jambi ในประเทศอินโดนีเซียที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นวิทยาลัยสงฆ์ในอดีต

แหล่งโบราณคดี Maura Jambi ในประเทศอินโดนีเซียที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นวิทยาลัยสงฆ์ในอดีต

แหล่งโบราณคดี Maura Jambi ในประเทศอินโดนีเซียที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นวิทยาลัยสงฆ์ในอดีต

 

แน่นอนว่าการฟันธงว่าสถานที่ใดมีองค์ประกอบที่จะเป็น “มหาวิหาร” หรือแหล่งเรียนรู้หรือไม่ อาจจะต้องเป็นประเด็นที่ต้องหาหลักฐานเชิงละเอียดกันต่อไป แต่ในประเทศไทยพบว่ามีเพียงไม่กี่แห่งที่มีเอกลักษณ์ทั้งในเชิงเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่

กล่าวคือ มีมหาสถูปที่เป็นจตุรมุข และมีคติของพระโพธิสัตว์ปรากฏในพื้นที่อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของโบราณวัตถุและศาสนสถาน รวมถึงร่องรอยองค์ประกอบของพื้นที่ที่มีความหลากหลายในเชิงโครงสร้างการใช้สอย สื่อว่าสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่ศาสนสถานแบบโดด เช่น สถูป วิหารโบราณ และโครงสร้างที่ดูจะไม่ตรงกับการเป็นสิ่งใดเลย แต่น่าจะสื่อถึงการใช้พื้นที่ในการผลิตและพื้นที่อยู่อาศัยในศาสนสถานของคนจำนวนมาก

เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า มหาสถูปเขาคลังนอกเป็นหนึ่งในโบราณสถานใหญ่ของไทยที่ถูกโจรกรรมมากที่สุด โดยจากคำให้การของผู้อาวุโสในหมู่บ้านระบุว่า ช่วงใกล้เคียง พ.ศ 2520 นั้น มีชาวต่างชาติจำนวนมากจ้างรถขนของเข้ามายังโบราณสถานเขาคลังนอกในยามวิกาล พร้อมอุปกรณ์หาโบราณวัตถุ และมักขนของออกไป “เต็มคันรถ” ทำให้เมื่อขุดแต่งบูรณะเขาคลังนอกซึ่งเป็นโบราณสถานหลักในเวลาต่อมา จึงแทบไม่พบโบราณวัตถุสำคัญใด ยกเว้นพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งทางกรมศิลปากรได้เก็บรักษาไว้

 

 

การวิเคราะห์เขาคลังนอกในทางหลักฐานโบราณคดีจากการขุดศึกษาและบูรณะ จึงทำได้เพียงการอนุมานจากลักษณะสถาปัตยกรรมกับหลักฐานเทียบเคียงจากในเมืองศรีเทพ ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากไลดาร์จึงเป็นร่องรอยบริบทที่สำคัญ เมื่อนำมาประกอบกับการขุดสำรวจและแต่งโบราณสถานรายรอบเขาคลังนอกของกรมศิลปากรในปี 2565 ซึ่งพบแนวกำแพงและฐานของโบราณสถานเพิ่มเติม

จากการวิเคราะห์การแปรภาพไลดาร์จะเห็นแนวกำแพงและโบราณสถานกระจายตัวเป็นกลุ่มใกล้ชิดกันไปจนถึงแนวเจดีย์ราย อีกทั้งยังมีร่องรอยของบ่อน้ำโบราณที่ปัจจุบันถูกขุดขยายเพื่อการประปาของชุมชนใกล้เคียง เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเทียบเคียงกับผังของมหาวิหารที่เป็นวิทยาลัยอื่นๆ พบว่านอกเหนือจากสกุลช่างและศิลปะที่มีความโดดเด่น ไปจนถึงเนื้อที่และลักษณะโครงสร้าง ทำให้การวางผัง “อารามเขาคลังนอก” มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น “มหาวิหาร” หรือพื้นที่วิทยาลัย

 

 

“เขาคลังนอก” จึงอาจเป็นมากกว่า “มหาสถูป” แต่อาจจะเป็น “มหาวิหาร” หรือวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ที่มีบทบาทส่งต่อพุทธศาสนาและงานศิลปะสู่รัฐในพื้นที่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตความรู้เหล่านี้จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนผังเมือง การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ และที่สำคัญที่สุด คือ การลงทุนให้กับพื้นที่การศึกษาและการฟื้นฟู “มหาวิหาร” ของศรีเทพ ให้กลับมาเป็นแหล่งเคารพศรัทธา แหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

 

ผู้เขียน ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

 

อ้างอิง

  • Barua, J.B., 2016. Ancient Buddhist universities in Indian sub-continent. Fulton Books, Inc
  • Kumar, P., 2018. Buddhist learning in South Asia: Education, religion, and culture at the ancient Sri Nalanda Mahavihara. Lexington Books.
  • Rahaman, Hafizur et al. “Heritage interpretation: Collective reconstruction of Sompur Mahavihara, Bangladesh.” 2010 16th International Conference on Virtual Systems and Multimedia (2010): 163-170.
  • Ray, H.P., 2019. Buddhist monuments across the Bay of Bengal: Cultural routes and maritime networks. TRaNS: Trans-Regional and-National Studies of Southeast Asia, 7(2), pp.159-180.
  • Sadzali, A. M. (2020). Identifikasi Arkeologi Sarana dan Prasarana Mahavihara Maura Jambi Sebagai Pusat Pendidikan di Asia Tenggara Pada Masa Melayu Kuno Abad VII-XII Jurnal Penelitian Arkeologi Papua Dan Papua Barat, 12(2), 133-152.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง