เพราะอะไร? เรียกค่าไถ่แบบไม่จับตัวจริงๆ ถึง(เกือบ)จะได้ผล

อาชญากรรม
14 ส.ค. 66
15:25
993
Logo Thai PBS
 เพราะอะไร? เรียกค่าไถ่แบบไม่จับตัวจริงๆ ถึง(เกือบ)จะได้ผล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
2 วันมานี้ มีเหตุหลอกลวงนักศึกษา เรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง ถึง 2 เหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน โชคดีที่ผู้ปกครองยังไม่โอนเงินตามที่ถูกเรียกหลักล้านบาท แจ้งให้ตำรวจเข้าช่วยเหลือลูกออกมาได้ คำถามก็คือ เพราะอะไร การเรียกค่าไถ่แบบไม่ต้องจับตัวจริงๆ ถึงเกือบจะได้ผล

2 กรณีล่าสุดคือ กรณีที่ตำรวจนครบาล ได้รับแจ้งจากครอบครัวนักศึกษา ชั้นปี 2 ย่านลาดกระบัง ว่าถูกเรียกเงิน 3,000,000 บาท แลกกับการปล่อยตัวลูก กับอีกเคสหนึ่งเป็นนักศึกษา ชั้นปี 3 ใน กทม. เช่นกัน เรียกค่าไถ่ครอบครัว ใน จ.มหาสารคาม กว่า 2,000,000 บาท

ทั้ง 2 กรณีนี้ เด็กถูกหลอกให้กลัว ว่าไปพัวพันกับพัสดุผิดกฎหมาย ถูกหลอกให้ย้ายจากตำแหน่งที่พักเดิม สร้างเนื้อหาหลอกลวงครอบครัว เพื่อเรียกเงิน โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่ หรือ กระทำต่อผู้เสียหายจริงๆ เพราะบงการอยู่ที่เมียนมา และ กัมพูชา

นักศึกษา 2 คน ไม่มีประวัติพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำไมถึงเชื่อจนเกือบจะเสียเงิน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และเป็นโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอธิบายว่า

นี่คือการปรับตัวของมิจฉาชีพ แต่ยังคงใช้จุดเริ่มต้นการหลอกลวงด้วยวิธีเดิม คือ การสร้างความหวาดกลัว พุ่งไปที่เยาวชน และ ครอบครัว

ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้จะเป็นวิธีการเดิม คือ ขู่ให้กลัวแต่ยังคงได้ผล หากบังเอิญว่าโทรมาแล้วเจอกับคนที่ไม่ค่อยได้ตามข่าวมิจฉาชีพ พอถูกขู่ก็จะเกิดความกลัว และ ยอมทำทุกอย่าง

เทคโนโลยี ทำให้มิจฉาชีพสามารถปลอมความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น และเข้าถึงผู้เสียหายได้ง่าย ซึ่งในการสอบสวนและทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะได้รับความร่วมมืออย่างดีจับกุมได้ในบางกรณี แต่ก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะข้อกฎหมายระหว่างประเทศ

ตำรวจไทย จะสามารถจับกุมได้เพียงแค่บัญชีม้าในประเทศ แต่เส้นทางการโอนเงินมีถึง 5-6 แถว และยังไปพัวพัน เช่น เว็บพนันออนไลน์ ซึ่งแม้จะตรวจสอบว่าปลายทางอยู่ในต่างประเทศ แต่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ ก็จะอ้างตัวว่าเป็นบริษัท เงินที่มาจากบัญชีเหล่านี้ คือ ลูกค้า

แม้ไทยจะมีกฎหมายฉบับใหม่ เมื่อ 17 มี.ค.2566 ช่วยให้สามารถอายัดเงินได้ใน 72 ชั่วโมงทันทีที่รู้ตัว แล้วจึงค่อยไปแจ้งความ แต่ก็ยังพบว่ามีหลายกรณีที่อายัดเงินไว้ไม่ทัน ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดที่ต้องพัฒนาต่อไป

ขณะที่แอปพลิเคชันธนาคารบางแห่ง ออกแบบมาเพื่อป้องกันการรีโมทจากโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ ซึ่งประชาชนต้องหมั่นอัปเดตระบบตามที่ธนาคารแจ้งเตือน แต่ตำรวจก็ขอให้ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากพบการเข้าระบบเพื่อก่อเหตุได้มากกว่า

สามารถตรวจสอบรูปแบบการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพได้ เช่น โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มของตำรวจสอบสวนกลาง และ www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ได้อัปเดตลักษณะพฤติกรรมของมิจฉาชีพ ที่นอกจากจะข่มขู่ เรียกค่าไถ่ ยังเลียนเสียง เป็นคนในครอบครัว เรียกค่าไถ่ โอนเงินให้ โดยสามารถสังเกตได้อีกทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ ที่ขึ้นต้นด้วย +697 +698 ซึ่ง กสทช. ได้ใช้เป็นตัวแสดงเตือนว่าเป็นสายจากต่างประเทศ ที่อาจจะเป็นมิจฉาชีพ

หากเกิดเหตุ สามารถเข้าไปแจ้งความได้ทาง www.thaipoliceonline.com หรือ 1441 ซึ่งในเว็บไซต์ยังมีเบอร์ของแต่ละธนาคารให้โดยเฉพาะ

อ่านข่าวอื่น : 

ไทม์ไลน์ 10 เดือน ในความทรงจำ "ตุลา" ลูกช้างนักสู้

ผู้ก่อเหตุรับสารภาพขโมยทารกจาก รพ. - ปฏิเสธเกี่ยวคดี "น้องต่อ" วัย 8 เดือน หายปริศนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง