"เบี้ยผู้สูงอายุ 2566" เช็กคุณสมบัติ - วิธีลงทะเบียน - ปฏิทินการจ่ายเงิน

สังคม
15 ส.ค. 66
12:47
91,101
Logo Thai PBS
"เบี้ยผู้สูงอายุ 2566" เช็กคุณสมบัติ - วิธีลงทะเบียน - ปฏิทินการจ่ายเงิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ฉบับล่าสุด มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุ อย่างไร ใครบ้างมีสิทธิ ปัจจุบันได้รับเดือนละเท่าไหร่ พร้อมเปิดปฏิทินการจ่ายเงิน เงินจะเข้าบัญชีวันไหนบ้าง

เป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจกรณีที่ กระทรวงมหาดไทย ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 12 ส.ค.2566 หลายคนกังวลหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อ "ผู้สูงอายุ" อย่างไรบ้าง 

เช็กตัวเลขผู้สูงอายุไทย 2566

ปี 2566 สังคมไทยเริ่มสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด

ข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า สิ้นปี 2565 (31 ธ.ค.65) ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5.6 ล้านคน และหญิง 7.07 ล้านคน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่ง คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี

ขณะที่ ข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง ระบุ มี.ค.2566 กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว มีจำนวน 36,986 คน เป็นชาย 18,456 คน หญิง 18,530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 คน จากจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านต่อปี และแตะ 90,000 ล้านแล้วในปีงบประมาณ 2567

ดังนั้นหากลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว 

เบี้ยผู้สูงอายุคืออะไร

"เบี้ยผู้สูงอายุ" หรือ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐจัดสรรให้แก่ "ผู้สูงอายุ" ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ หมายความว่า การรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากภาครัฐ จะต้องละทะเบียนก่อน

สำหรับสาระสำคัญของ "หลักเกณฑ์ฉบับบล่าสุดได้มีการเพิ่มเติมในหมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ข้อ 6(4) ซึ่งระบุว่า "เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด"

ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เมื่อระเบียบ มท.ล่าสุดมีผลบังคับใช้จากเดิมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับสวัสดิการดังกล่าวจะเหลือเพียงผู้สูงอายุที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นเท่านั้น แล้ว จะมีใครบ้าง ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และมีขั้นตอนการขอรับสิทธิอย่างไร ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง 

ใครบ้างมีสิทธิได้รับ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566"

  • มีสัญชาติไทย
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
  • เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

การสิ้นสุดการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566  

  • ตาย
  • ขาดคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ข้างต้น
  • แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับบุคคลดังกล่าว

หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

รวมทั้งมีบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่าบรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว

อ่านฉบับเต็ม หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 

ลงทะเบียนรับสิทธิต้องทำอย่างไร

ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของปีนั้น และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน ต.ค. ในปีนั้น ๆ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.ของทุกปี

ทั้งนี้ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.ของทุกปี เป็นต้นไป โดยจะต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. – 1 ต.ค.ของปีนั้น ๆ จึงจะลงทะเบียนล่วงหน้าได้ โดยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปี นั่นก็คือ เดือน ต.ค. ปีนั้น ซึ่งก็คือ อายุครบ 60 ปีเดือน ต.ค.2565 นั่นเอง

อ่านข่าว : เปิดหลักเกณฑ์ "จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566"

อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน ต้องทำอย่างไร 

สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ย.2566 จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2567)

อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (คนที่เกิดก่อน 2 ก.ย.2507)

สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ย. 2566
มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2567 โดยจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ในเดือนถัดไปที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว

หลักฐานการลงทะเบียนรับสิทธิ

การเตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้องเตรียมเอกสาร ประกอบด้วย

1.กรณีลงทะเบียนด้วยตนเอง

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด

2.กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ต้องเตรียมเอกสารเพิ่ม คือ

  • หนังสือมอบอำนาจ (ยื่นแบบฟอร์มให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด

ขั้นตอนการยื่นขึ้นทะเบียน

การยื่นขึ้นทะเบียนและแนวทางการปฏิบัติของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย

  • ประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตนเอง
  • ลงทะเบียนตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด (ในวันและเวลาราชการ)
  • ให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนได้ตามแบบรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยตนเอง

สถานที่ในการขึ้นทะเบียน 

  • จุดบริการ ใน กทม. สำนักงานเขต 50 เขต
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
  • อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) หรือ เทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

ทั้งนี้ การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน

สำหรับการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ภาครัฐจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการจะจ่ายให้ในวันทำการก่อนวันหยุดนั้น และเป็นการจ่ายรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้

  • ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท

ขณะที่ได้รับเงินไม่ตรงวันที่ 10 ในแต่ละเดือน โดยในปีนี้ภาครัฐจะโอนเงินเข้าบัญชีตามวันที่ ดังต่อไปนี้

  • สิงหาคม 2566 : วันพฤหัสบดีที่ 10 ส.ค.2566
  • กันยายน 2566 : วันศุกร์ที่ 8 ก.ย.2566
  • ตุลาคม 2566 : วันอังคารที่ 10 ต.ค.2566
  • พฤศจิกายน 2566 : วันศุกร์ที่ 10 พ.ย.2566
  • ธันวาคม 2566 : วันศุกร์ที่ 8 ธ.ค.2566

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)(สพร.), กรมกิจการผู้สูงอายุโครงการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนการเมืองมองต่างมุม กรณีปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

ห่วงสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ ผลักผู้สูงอายุใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเพิ่ม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง