อดีตจำเลยคดีทุจริตเงิน สจล.ร้องขอความเป็นธรรมหลังศาลยกฟ้อง

อาชญากรรม
16 ส.ค. 66
12:37
929
Logo Thai PBS
อดีตจำเลยคดีทุจริตเงิน สจล.ร้องขอความเป็นธรรมหลังศาลยกฟ้อง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เสียหาย อดีตจำเลยคดีทุจริตเงิน สจล. 1,600 ล้านบาท นำหลักฐานเข้าขอความเป็นธรรมที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอเยียวยาหลังถูกคุมขัง 4 ปี ต่อมาศาลสั่งยกฟ้อง พบทรัพย์สินที่ถูกอายัดหายไปหลายรายการ

วันนี้ (16 ส.ค.2566) นายภาดา บัวขาว ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องหาในคดีทุจริตเงิน 1,600 ล้านบาท ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อปี 2555 นำหลักฐานเข้ายื่นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรม หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น จนกระทั่งผู้เสียหายไม่ยื่นฎีกา ก่อนจะออกจากเรือนจำประมาณปี 2561

หลังจากออกจากเรือนจำทรัพย์สินที่ถูกอายัดกว่า 40 รายการ ประกอบด้วย สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์และเงินสด มูลค่ารวมกว่า 7,000,000 บาท หายไปบางส่วน พยายามติดต่อไปยังธนาคาร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กลับไม่ได้รับความคืบหน้า หรือคืนทรัพย์สิน ทั้งที่พ้นโทษตามคำพิพากษาแล้ว

รวมทั้งการถูกจองจำขณะอยู่ในเรือนจำกว่า 4 ปี สุดท้ายยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด จึงต้องการให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ และเยียวยาตามสิทธิที่ควรจะได้รับ เนื่องจากที่ผ่านมาในระหว่างถูกคุมขังได้ขาดสิทธิประโยชน์ในการทำธุรกิจ ขาดใช้อิสรภาพ และกระทบต่อจิตใจ จึงต้องการให้กระทรวงฯ เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา

นายภาดา เปิดเผยว่า ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันทุจริตเงิน 1,600 ล้านบาทของ สจล.นั้น เนื่องจากพบว่านายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญได้ให้เลขาฯ ส่วนตัว โอนเงินเข้าในการทำธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ร่วมกันเท่านั้น ในจำนวน 7,000,000 บาท ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานภายในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่กลับถูกดำเนินคดีไปด้วย ที่ผ่านมาพยายามชี้แจงและนำหลักฐานในชั้นพนักงานสอบสวน แต่กลับต้องถูกดำเนินคดี

หลังจากออกมาจากเรือนจำและได้ประกอบธุรกิจมาประมาณ 5 ปี แต่ยังคงได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังมีชื่อระบุตกเป็นข่าวว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตเงิน

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ได้รวบรวมหลักฐานและตรวจสอบเพื่อพิจารณาเยียวยาให้กับผู้เสียหาย โดยนายวรพันธ์ กลัดหว่าง นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กรมคุ้มครองสิทธิฯ เปิดเผยการเยียวยาเบื้องต้นว่า มีแนวทางการช่วยเหลือ คือ จะทดแทนการถูกคุมขังอัตราวันละ 500 บาท ค่าขาดการทำมาหาได้ ยึดตามค่าแรงขั้นต่ำขณะนั้น และค่าจ้างทนายความไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนการขอคืนทรัพย์สิน ผู้เสียหายจะต้องนำหลักฐานส่วนนี้ให้ครบก่อน จากนั้นจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเรื่องคืนทรัพย์สินให้ทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง