อนาคตของเครื่องบินอัตโนมัติ เมื่อ Airbus ทดสอบเทคโนโลยี Dragonfly

Logo Thai PBS
อนาคตของเครื่องบินอัตโนมัติ เมื่อ Airbus ทดสอบเทคโนโลยี Dragonfly
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ปัจจุบันเครื่องบินจะสามารถบินได้ด้วยระบบออโตไพลอต (Autopilot) แต่เราก็ยังไม่มีเครื่องบินโดยสารที่สามารถบินได้เองจริง ๆ โดยไม่ต้องใช้นักบินเนื่องจากวงจรเทคโนโลยีในฝั่งการบิน ที่ต้องใช้เวลานานในการพัฒนาด้วยเหตุด้านความปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทแอร์บัส (Airbu

ทุกวันนี้เราได้เห็นเทคโนโลยีอัตโนมัติในหลาย ๆ ยานพาหนะ ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคล รถไฟฟ้า และเรือ เทคโนโลยีเหล่านี้กลายมาเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคจริง ๆ และมีการเริ่มใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น ระบบออโตไพลอต (Autopilot) บนรถยนต์เทสลา (Tesla) แต่อาจจะไม่ใช่กับอุตสาหกรรมการบินที่แม้คำว่า “ออโตไพลอต” จะมีรากฐานมาจากเทคโนโลยีการบิน แต่เทคโนโลยีออโตไพลอตของเครื่องบินในปัจจุบันกลับยังต้องพึ่งพานักบินอยู่มาก

หน้าที่หลัก ๆของนักบินในการบินเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ได้แก่ การติดต่อสื่อสารกับหอบังคับการบิน การนำเครื่องบินขึ้นและลง การสั่งการระบบออโตไพลอตให้บินในเส้นทาง ความเร็ว และความสูงที่กำหนด และการตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า แม้จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือมากกว่าในอดีตมาก เช่น หน้าตาของอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปและทันสมัยมากขึ้น ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยที่แม่นยำขึ้น แต่ก็ยากที่จะเดาว่าเมื่อไรเราถึงจะมีเครื่องบินที่สามารถบินได้เองจริง ๆ โดยไม่ต้องมีนักบิน

แม้ว่าเราอาจจะยังไม่ได้เห็นเครื่องบินที่ขับตัวเองได้โดยไร้นักบินในลักษณะเดียวกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทเทคโนโลยีการบินจะไม่ได้อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว บริษัทแอร์บัส (Airbus) กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Dragonfly” ที่อาจนำไปสู่อนาคตของเครื่องบินไร้นักบินในอนาคต

Dragonfly มีความหมายว่าแมลงปอ ชื่อนี้ได้จากการที่แมลงปอเป็นสัตว์ที่สามารถมองเห็นได้รอบด้านตัวเอง 360 องศา ซึ่งก็มีนัยถึงการพัฒนาอากาศยานที่สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวมัน ผ่านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติใช้ โดยแอร์บัสได้ทดสอบติดกล้องไว้รอบลำตัวเครื่องบิน แอร์บัสรุ่นเอ 350 (Airbus A350) เครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของแอร์บัสในปัจจุบัน เพื่อเก็บข้อมูลที่จะนำไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมเครื่องบินให้สามารถขับเคลื่อนไปตามทางขับในสนามบิน (Taxiway) บินขึ้น และลงจอดเองได้ รวมถึงสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้

เทคโนโลยีนี้จะแตกต่างกับออโตไพลอตในปัจจุบัน ที่อาศัยการสั่งการจากนักบินให้บินไปยังเส้นทางที่กำหนดไว้ และแตกต่างกับเทคโนโลยีการลงจอดอัตโนมัติ (Instrument Landing System - ILS) ที่ใช้การร่อนลงตามสัญญาณคลื่นวิทยุ และมีรากฐานมาจากเทคโนโลยีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะอาศัยทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์บนแนวคิดใหม่ทั้งหมด

แม้ว่าแอร์บัสจะมองว่าเทคโนโลยี Dragonfly ในช่วงแรกอาจนำไปสู่การอำนวยความสะดวกให้กับนักบิน เช่น การช่วยฟังคำสั่งจากหอบังคับการบิน การนำเครื่องขึ้นและลงอัตโนมัติที่แม่นยำและปลอดภัย และการลดงานภายในห้องควบคุมเพื่อลดความเหนื่อยล้าให้กับนักบิน มากกว่าการพัฒนาเครื่องบินที่บินเองได้โดยไม่ต้องอาศัยนักบิน แต่การยกระดับเทคโนโลยีจากเดิมมาสู่ Dragonfly ก็อาจเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครื่องบินที่บินได้เองจริง ๆ

แท้จริงแล้วความยากของเรื่องนี้อาจไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี แต่เป็นด้านข้อกฎหมายการบินและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่บริษัทผลิตเครื่องบินและซอฟต์แวร์ควบคุมการบินจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการบินจริง ๆ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์อย่างกรณีระบบ MCAS ของเครื่องบินโบอิง รุ่น 737 แม็กซ์ (Boeing 737 Max) ซึ่งนำไปสู่สองโศกนาฏกรรมเขย่าขวัญวงการการบิน เมื่อบริษัทแอร์บัสไม่ยอมอธิบายการทำงานของอัลกอริทึมในระบบการบิน ทำให้นักบินไม่สามารถปิดระบบสั่งการที่ทำงานผิดพลาดได้ทันเวลา นำไปสู่เหตุการณ์เครื่องบินตกถึงสองลำในระยะเวลาห่างกันไม่กี่เดือน

จะเห็นได้ว่า การยอมถ่วงเวลาในการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสู่อุตสาหกรรมการบิน ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบินนั้นเป็นหนึ่งในการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ที่มาภาพ: Airbus
ที่มาข้อมูล: Airbus
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง