ครั้งแรกของโลก! นักวิจัยพบ "ไมโครพลาสติก" ในหัวใจมนุษย์

Logo Thai PBS
ครั้งแรกของโลก! นักวิจัยพบ "ไมโครพลาสติก" ในหัวใจมนุษย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีการค้นพบไมโครพลาสติกใน "หัวใจมนุษย์" เป็นครั้งแรก ในขณะที่ยังไม่ทราบผลกระทบด้านสุขภาพจากสิ่งนี้ การศึกษาครั้งนี้เป็นอีกสิ่งย้ำเตือน ว่าปัญหาพลาสติกของโลกได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงหนึ่งศตวรรษ

นักวิทยาศาสตร์จาก รพ.ปักกิ่ง อันเซิน ในประเทศจีน และนักวิจัยจาก ACS' Environmental Science & Technology ตรวจพบ "ไมโครพลาสติก" ใน อุจจาระ ปอด และ รกของมนุษย์ รวมถึงในช่องปาก ช่องทวารหนัก โพรงมดลูก และ ช่องคลอด ซึ่งคาดว่าได้รับมาจากการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ยังได้เก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกจากผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจ 15 ราย พบว่า เจอไมโครพลาสติก 9 ชนิดในเนื้อเยื่อหัวใจ 5 ชนิด นอกจากนี้ยังพบไมโครพลาสติก 9 ชนิดในตัวอย่างเลือด ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่า ตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจได้รับ ไมโครพลาสติกมาจากการผ่าตัด

แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการผ่าตัดอีกครั้ง ว่าจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตของผู้ได้รับการผ่าตัดหรือไม่ 

ตัวอย่างไมโครพลาสติก 9 ชนิดที่เจอในเนื้อเยื่อหัวใจ 

  • โพลีเมทิลเมทาคริเลต ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในแก้ว ช่วยให้แก้วทนต่อการแตก พบในตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจห้องบนซ้าย เนื้อเยื่อไขมันอีพิโพส และ เนื้อเยื่อไขมันเยื่อหุ้มหัวใจ ในระหว่างการผ่าตัด
  • โพลิเอธิลีนเทเรฟทาเลต ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและภาชนะบรรจุอาหาร
  • โพลิไวนิลคลอไรด์ ซึ่งแพร่หลายในอาคารและการก่อสร้าง

"การตรวจพบ ไมโครพลาสติก ในร่างกายเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่า ไมโครพลาสติก เหล่านี้ เข้าสู่เนื้อเยื่อหัวใจผ่านการผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน และจะมีผลกระทบต่อการพยากรณ์โรคระยะยาวหลังการผ่าตัดหัวใจอย่างไร" นักวิจัยสรุปผลการศึกษา 

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ระบุว่า มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าร่างกาย ในปริมาณกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัม/สัปดาห์ เทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ 

ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ไมโครพลาสติก กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจาก ไมโครพลาสติก มีขนาดเล็กมากทำให้ยากต่อการเก็บและกำจัด รวมถึงย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ไมโครพลาสติก จึงสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของ ไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อมพบได้ทั้งในน้ำจืด ตะกอนดินและในทะเล 

ไมโครพลาสติก คืออะไร?

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการระบุว่า ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มม. มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน

ไมโครพลาสติก ถูกพบในทุกซอก ทุกมุมของสภาพแวดล้อมของโลก ตั้งแต่น้ำแข็งในแอนตาร์กติกา ไปจนถึงหิมะใน อาร์กติก

มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า มนุษย์รับ ไมโครพลาสติก เข้าสู่ร่างกายจำนวนมากโดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าอุจจาระของมนุษย์เต็มไปด้วย ไมโครพลาสติก ซึ่งบ่งชี้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในลำไส้ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่ามีไมโครพลาสติก ยังฝังอยู่ใน อวัยวะ และเนื้อเยื่ออื่นๆ อีกมากมาย 

ภาพ x-ray ร่างกายมนุษย์

ภาพ x-ray ร่างกายมนุษย์

ภาพ x-ray ร่างกายมนุษย์

ในปี 2563 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา-ลินคอล์น สหรัฐอเมริกา วิจัยภาชนะพลาสติกใส่อาหารพบว่า ความร้อนจากการเวฟอาหารด้วยไมโครเวฟ ทำให้เกิดการปล่อยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในอาหารจำนวนมาก

พื้นที่พลาสติกเพียง 1 ตร.ซม. หากเวฟด้วยความร้อนนาน 3 นาที จะมีไมโครพลาสติกออกมา 4.22 ล้านชิ้น และ นาโนพลาสติกมากถึง 2.11 พันล้านชิ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีรายงานวิจัยว่า ไมโครพลาสติก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ วิธีการหนึ่งที่ทุกคนสามารถช่วยลดปริมาณ ไมโครพลาสติก ไม่ให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ คือ การสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลง แม้จะสวนทางกับปริมาณการผลิตพลาสติกในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

ที่มา : Environmental Science & Technology, Petromat.org, กรมวิทยาศาสตร์บริการ, ธุรกิจ 4.0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง