โรงพยาบาลอุ้มผาง วอนรัฐสนับสนุนระบบสาธารณสุขโรงพยาบาลชายแดนทุกแห่ง

ภูมิภาค
18 ส.ค. 66
09:45
1,012
Logo Thai PBS
โรงพยาบาลอุ้มผาง วอนรัฐสนับสนุนระบบสาธารณสุขโรงพยาบาลชายแดนทุกแห่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก มีปัญหาเรื่องหนี้สินติดลบทุกปี เพราะต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จากรัฐ ล่าสุดปี 2566 นี้ มีหนี้สินไปแล้วกว่า 46 ล้านบาท

ญาติของผู้ป่วยทั้งชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้เสื่อปูนอนอยู่ข้างเตียงคนไข้ เพื่อรอเฝ้าไข้ เป็นภาพเห็นจนชินตา ภายในโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ยิ่งขณะนี้มีการสู้รบในประเทศเมียนมา ระบบการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้านถูกตัดขาด จึงมีคนไข้ชาวเมียนมาเข้ามารักษาในโรงพยาบาลอุ้มผางมากขึ้น

 

นพ.วีรวิทย์ โฆษะวิวัฒน์ นายแพทย์วิชาการชำนาญการ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ระบุว่า ด้วยไม่สามารถปฏิเสธการรักษา ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือบุคคลไร้สัญชาติ ก็ต้องรักษา ซึ่งแพทย์ทำงานหนัก อยากให้เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามาในพื้นที่

นพ.วีรวิทย์ โฆษะวิวัฒน์ นายแพทย์วิชาการชำนาญการ โรงพยาบาลอุ้มผาง

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง เปิดเผยว่า คนที่เข้ามารักษาเกือบครึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย โรงพยาบาลจึงสำรองงบประมาณจ่ายให้กับคนเหล่านี้ งบประมาณจึงติดลบทุกปี สำหรับปีนี้ติดลบไปแล้วกว่า 46 ล้านบาท จึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการสนับสนุนระบบสาธารณสุขให้กับโรงพยาบาลชายแดนทุกแห่ง

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง 

 

ชาวบ้านในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก หลายคนบอกว่า รู้สึกเห็นใจโรงพยาบาลหลังทราบข่าวเรื่องงบประมาณติดลบ แต่ก็เข้าใจเรื่องมนุษยธรรมว่าต้องช่วยเหลือคนไข้กลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย จึงหวังว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข จะมีทางช่วยเหลือในเรื่องนี้



สำหรับจำนวนประชากร ผู้ที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ขณะนี้มีอยู่กว่า 8 หมื่น 4 พันคน แต่ในจำนวนนี้เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยถึงร้อยละ 47 หรือประมาณ 4 หมื่นคน จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแล หากดูงบประมาณย้อนหลังไป 10 ปีของโรงพยาบาลอุ้มผาง พบว่าติดลบเกือบทุกปี เฉพาะ 5 ปีหลัง ติดลบทั้งหมด 3 ปี คือปี 2563 ติดลบ 41 ล้านบาท /ปี 2565 ติดลบ 17 ล้านบาท และปี 2566 ติดลบไปกว่า 46 ล้านบาท



ที่ผ่านมา ผู้บริหารโรงพยาบาล พยายามแก้ปัญหาด้วยการของบประมาณเพิ่ม รวมถึง ทำโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ โดยเฉพาะยาที่ใกล้หมดอายุ เพื่อให้ผู้ป่วยไร้สัญชาติเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งมีการบริจาคยา รวมถึงเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เข้ามา จึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง