พาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ เตรียมบินผ่านดาวศุกร์ ในวันที่ 21 สิงหาคม นี้

Logo Thai PBS
พาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ เตรียมบินผ่านดาวศุกร์ ในวันที่ 21 สิงหาคม นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยานสำรวจดวงอาทิตย์ พาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ เตรียมบินผ่านดาวศุกร์เพื่อปรับวิถีโคจรสู่ดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 630,276 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ยานพาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ (Parker Solar Probe) ซึ่งเป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ขององค์การนาซา (NASA) ได้จุดเครื่องยนต์เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการบินผ่าน (Fly-by) ดาวศุกร์ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2023 นี้

โดยยานพาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ ได้จุดจรวดเพื่อปรับเส้นทางเป็นเวลา 4.5 วินาที ตามที่ถูกสั่งไว้โดยทีมวิศวกรของยาน เพื่อให้ยานเข้าใกล้ดาวศุกร์มากที่สุด แต่ไม่ถึงกับชนกับดาวศุกร์หรือเข้าสู่วงโคจรดาวศุกร์ แต่ใกล้มากพอที่แรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์จะมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงวิถีของยานให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น เทคนิคนี้เรียกว่า “Slingshot” หรือ “Gravity Assist” ซึ่งหมายถึงการใช้แรงโน้มถ่วงของวัตถุท้องฟ้าในการเปลี่ยนแปลงวิถีโคจรของยาน

ปัจจุบัน ยานพาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ กำลังเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 14 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 50,405 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเราเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ด้วยความเร็วเท่านี้จะใช้เวลาเพียง 40 วินาที เท่านั้น

หลังจากการบินผ่านดาวศุกร์ วิถีของยานพาร์กเกอร์โซลาร์โพรบจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และเดินทางด้วยความเร็วสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2023 ยานพาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ จะเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 176 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 630,276 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับการเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ด้วยเวลาเพียง 3 วินาทีเศษเท่านั้น และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่ระยะประมาณ 7.2 ล้านกิโลเมตร ทำลายสถิติเก่าของยานไปโดยปริยาย

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง