พนักงานประจำ - ลูกจ้าง "ลาออก" ต้องไม่ลืม "ประกันสังคม"

สังคม
18 ส.ค. 66
15:52
57,623
Logo Thai PBS
พนักงานประจำ - ลูกจ้าง "ลาออก" ต้องไม่ลืม "ประกันสังคม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีลูกจ้างขอลางานเพื่อประกอบพิธีศพแม่ แต่หัวหน้าไม่อนุญาต สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบเป็นวงกว้าง สะเทือนจนถึงประเด็นลดคะแนนรีวิวในอีก 65 สาขาโรงแรมทั่วโลก เรียกว่าปรากฏการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว"

แม้ทางต้นสังกัดจะออกมาแถลงข่าวยืนยันอยู่เคียงข้างผู้สูญเสีย อนุญาตให้พนักงานคนดังกล่าวจัดงานศพได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการสั่งพักงานและตั้งคณะกรรมการสอบหัวหน้างานผู้ไม่อนุญาตให้ลา แต่เหตุการณ์และกระแสสังคมในขณะนี้ อาจกำลังกลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่มีผลให้ ทัั้้ง 2 คน ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้างผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือ หัวหน้างาน อาจต้องพิจารณาถึงการทำงานในสถานที่เดิม ว่ายังมีใจที่จะอยู่ต่อหรือพอแค่นี้

อ่าน : ทัวร์ลง-รีวิวลดดาว "โรงแรมดังเขาใหญ่" ไม่ให้ลูกจ้างลางานศพ

อ่าน : โรงแรมดังเขาใหญ่ สั่งพักงาน-สอบ ผจก.ไม่ให้ พนง.ลาไปงานศพแม่

คงเป็นสิ่งที่ดีหากทั้ง 2 คนจะสามารถทำงานในที่เดียวกันต่อไปได้ แต่หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลอื่นๆ ที่คิด "ลาออก" ซึ่งคนวัยทำงานส่วนใหญ่ จะมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามข้อบังคับของกฏหมาย คือ ประกันสังคม  

มาตรา 33, 39, 40 ต่างกันตรงไหน  

  • ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้างร้อยละ 5 + นายจ้างร้อยละ 5 + รัฐบาลร้อยละ 2.75 ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท 
    สิทธิประโยชน์ มาตรา 33 ได้รับความคุ้มครอง มีดังนี้ กรณีเจ็บป่วยกรืออุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

  • ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) คือ บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน
    สิทธิประโยชน์ มาตรา 39 ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และ กรณีชราภาพ

    อ่าน : เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเพื่ออะไร

  • ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 40) คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 3 ชุด
    • ความคุ้มครอง 3 กรณี - จ่าย 70 บาท/เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และ กรณีเสียชีวิต
    • ความคุ้มครอง 4 กรณี - จ่าย 100 บาท/เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และ กรณีชราภาพ
    • ความคุ้มครอง 5 กรณี - จ่าย 300 บาท/เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และ การสงเคราะห์บุตร
สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมแต่ละมาตรา

สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมแต่ละมาตรา

สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมแต่ละมาตรา

อ่าน : สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้! เช็กสิทธิ "ลาหยุด ลาป่วย ลากิจ" ตามกฎหมายแรงงาน

ถ้าไม่ไปต่อ ต้องติดต่อประกันสังคม (มาตรา 33)

  1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออก จะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น
  2. ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้ ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  3. ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน
  4. ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี ดังนี้
    • ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
    • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
    • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
    • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
    • ประมาทเลินล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
    • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  5. ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
  6. มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย

ลาออก-สิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินชดเชย 3 เดือน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
และเมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออกหรือไม่ประสงค์ส่งเงินต่อ) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใต้ 4 เงื่อนไข

  1. เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
  2. คลอดบุตร
  3. ทุพพลภาพ
  4. เสียชีวิต

ทำไมต้องจ่ายเงิน ประกันสังคม

"ประกันสังคม" เป็นการออมเงินภาคบังคับที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันในการใช้ชีวิต มีความมั่นคงให้ครอบครัว และ มีเงินเก็บส่วนหนึ่งเตรียมพร้อมใช้เพื่อการเกษียณ แต่ละมาตรา ก็จะมีสิทธิประโยชน์ และความครอบคลุม ที่แตกต่างกันออกไป การจะจ่ายเงินเพื่อใช้สิทธิประกันตน จึงขึ้นกับความต้องการของตัวเอง ที่ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยเช่น ความต้องการดูแลสุขภาพตัวเอง, สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการลดหย่อนภาษี

อ่าน : ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาล ผู้ประกันตนมีสิทธิรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องตามโรงพยาบาลที่ระบุเลือกไว้ในบัตร ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ให้ไปหาโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ แล้วสำรองจ่ายมาเบิกทีหลัง

ทุพพลภาพมีชดเชย แยกเป็น 2 กรณีคือ กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต และกรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศฯกำหนด ภายใต้เงื่อนไข : ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ

จากไปมีเงินให้คนข้างหลัง ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท โดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ 

มีลูกช่วยจ่ายค่าคลอด ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาท/การคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) และ ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่าย ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงาน ภายใต้เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร

บำนาญ-บำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่ต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน) และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ แทน 

ที่มา : กระทรวงแรงงาน, ประกันสังคม 

อ่าน : ต้องรู้! "ลูกจ้าง" มีสิทธิลาได้ 3 วันเพื่อกิจธุระอันจำเป็น

อ่าน : อยากหยุดต้องลา! เช็กตารางกันยายน 2566

อ่าน : 24 ธ.ค.66 เลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" ดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง