นายกฯ ใหม่พบนายกฯ ประยุทธ์ชื่นมื่น

การเมือง
24 ส.ค. 66
15:55
906
Logo Thai PBS
นายกฯ ใหม่พบนายกฯ ประยุทธ์ชื่นมื่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
24 ส.ค.2566 หลังจากรับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี 1 วัน นายเศรษฐา ทวีสิน เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รักษาการ เพื่อขอคำแนะนำ และอาจรวมถึงการเตรียมรับมอบการส่งงานให้รัฐบาลใหม่

มีภาพบรรยากาศการพบกันที่ชื่นมื่น เต็มไปด้วยรอยยิ้ม มีการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี และมีภาพนั่งเจรจาโอภาปราศรัย เผยแพร่ตามช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ตามมา

เป็นการพบปะกันซึ่งหน้า ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล เคยแต่งตั้งขึ้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เคยได้อธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วว่า ปกติก็มีการส่งงานต่อของข้าราชการประจำแต่ละกระทรวง ที่ต้องจัดทำอยู่แล้ว

การตั้งกรรมการทับซ้อนขึ้นมา ยิ่งจะไปสร้างแรงกดดันให้กับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะหากถูกเรียกไปสอบถาม หรือให้ส่งมอบข้อมูลต่าง ๆ ในระหว่างที่ยังไม่ทันได้เข้าทำหน้าที่รัฐบาล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใน ครม.ชุดใหม่ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์นั้น ประมาณครึ่งหนึ่งล้วนเป็นคนหน้าเดิม ในคณะรัฐมนตรีชุดเก่าของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล

พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตเลขาธิการนายกฯ ที่ทำงานร่วมกันมากับ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ ที่แกนนำสำคัญอย่าง นายสันติ พร้อมพัฒน์ และร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า ก็ยังมีชื่อปรากฏอยู่ เช่นเดียวกับนายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา

แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีส่วนหนึ่งก็เคยร่วมงานในฐานะรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่ม 3 มิตร หากไม่หลุดโผในรอบสุดท้ายเสียก่อน

มองในเชิงบวก เป็นการให้เกียรติผู้นำและรัฐบาล เป็นแบบผู้น้อยเข้าหาผู้ใหญ่ และไม่ใช่ในลักษณะจ้องจับผิดหรือหาเรื่อง

จะเห็นท่าทีเป็นมิตรชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้แสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ต่างไปจากเมื่อครั้งนายพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งไม่มีท่าทีในลักษณะนี้จาก พล.อ.ประยุทธ์

ดูจากกรอบเวลาสมัยตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปี 2562 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน 10 วัน ได้นายกฯ จากผลโหวตที่ประชุมรัฐสภา ต่อมา 9 มิ.ย.2566 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 29 มีพิธีรับพระบรมราชโองการ 11 มิ.ย. และต่อมา 10 ก.ค.2566 คณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ขณะที่การเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ใช้เวลา 3 เดือน 7 วัน กว่าที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตเลือกได้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายกฯ วันที่ 23 ส.ค.2566

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คาดหมายว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี กว่าจะได้รายชื่อน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คงต้องใช้เวลาตรวจสอบประวัติอีก 1 สัปดาห์ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯถวายสัตย์ฯ อีก 1 สัปดาห์ รวมประมาณ 3 สัปดาห์ น่าจะได้คณะรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล (24 ส.ค.2566)

แต่ย้ำว่า เป็นการคาดคะเน ส่วน ครม.ชุดใหม่ จะเริ่มทำหน้าที่ได้คาดว่าในช่วงกลางเดือน ก.ย.2566 แต่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ ต้องรอหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คาดว่าจะเป็นปลายเดือน ก.ย.2566

เท่ากับในระหว่างนี้ หรือหลังจากได้รายชื่อคณะรัฐมนตรี ขณะรอการลงพระปรมาภิไธย จะเป็นเรื่องเตรียมเขียนนโยบายรวมของรัฐบาลเพื่อรอแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการจับจองห้องทำงานของรัฐมนตรีและทีมงาน

รอการส่งมอบงานบริหารประเทศชาติอย่างสมบูรณ์ ในเวลาอีกไม่นาน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดประวัติ "เศรษฐา" นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

"เศรษฐา" คุย "บิ๊กตู่" ปลื้มพาทัวร์ตึกไทยคู่ฟ้า ฝากใจเย็น อดทน

เพื่อไทย แจงไม่มีแอปฯ "เงินดิจิทัล 1 หมื่น" เริ่มใช้ครึ่งปีแรก 2567

กสม.จับตาเคส "ทักษิณ" ถูกตั้งคำถาม "ความเหลื่อมล้ำ-เลือกปฏิบัติ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง