ชาวนาใต้ขยับ โอกาส “ส่งออกข้าว” เพิ่ม หลังอินเดียลดส่งออก

ภูมิภาค
25 ส.ค. 66
11:30
312
Logo Thai PBS
ชาวนาใต้ขยับ โอกาส “ส่งออกข้าว” เพิ่ม หลังอินเดียลดส่งออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข่าวดีของชาวนาไทย ที่จะขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น หลังอินเดีย ประเทศที่ได้ชื่อว่า ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกอยู่ที่ร้อยละ 40 ประกาศยุติการส่งออกข้าว เนื่องจากบริโภคภายในประเทศของตัวเองไม่เพียงพอ

ส่วนไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับ 2 เท่าๆ กับเวียดนาม อยู่ที่ร้อยละ 11 และอาจได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามสมาคมโรงสีข้าวไทย กังวลว่า เมื่อราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พร้อมจะหาลู่ทางให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วย อ.ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ ชะอวด และอ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มไถ่นาปรับพื้นที่เตรียมหว่านข้าวนาปรัง รวมเวลาในการเพาะปลูกประมาณ 3-4 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

สายชล สุขขะ ชาวนา ต.ปากพนังฝั่งตะวันตก อ.ปากพนัง วัย 48 ปี เดินตามรอยบรรพบุรุษยึดอาชีพทำนา พาดูรวงข้าวที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวในอีก 20 วันข้างหน้า

สายชล เล่าว่า ปีนี้ทำนาทั้งหมด 108 ไร่ เท่ากับปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมาขายข้าวได้เฉลี่ยตั้งแต่ เกวียนละ 9,200-9,700 บาท แล้วแต่คุณภาพ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพิ่มอีกไร่ละ 1,000 บาท

ราคาข้าวปีนี้ เป็นไปในทิศทางที่ดี จนถึงขณะนี้ขายข้าวได้ราคาเกวียนละ 11,000-12,000 บาท เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการข้าวไทยมากขึ้น แต่ต้องพบกับอุปสรรค จากฝนฟ้าอากาศ อาจทำให้ยอดการผลิตข้าวไม่เป็นไปตามเป้า

สุทธิพร กาฬสุวรรณ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ชาวนาไทยได้รับข่าวดี หลังอินเดียซึ่งส่งออกข้าวมากที่สุดของโลก อยู่ที่ร้อยละ 40 ยุติการส่งออกข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ และข้าวขาว 25 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้การบริโภคข้าวในประเทศของตัวเองไม่เพียงพอ รวมถึงการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครน ความต้องการข้าวจึงเพิ่มมากขึ้น

ส่วนไทย ซึ่งครองตลาดข้าวโลกอยู่ที่ร้อยละ 11 เท่ากับประเทศเวียดนาม ส่วนที่เหลืออย่างประเทศ ปากีสถาน กับสหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสดีของชาวนาไทย

และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อโลกมีความต้องการข้าวมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ทำให้บรรดาสมาคมผู้ค้าข้าว หารือร่วมกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

เฉพาะภาคใต้ รวมถึงเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่ได้ชื่อว่าเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในอดีตมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1 ล้านไร่ ระยะหลังชาวนาบางส่วน หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่างปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น จึงเหลือพื้นที่ปลูกข้าวเพียง 3 แสนไร่ โรงสีที่เคยมีอยู่กว่า 100 โรง ยังเดินเครื่องเพียง 36 โรง บางโรงไม่ได้เดินเครื่องวัน

หลายฝ่ายเกรงว่า ในอนาคตภาคใต้ อาจขาดความมั่นคงทางอาหาร เพราะต้องหันไปซื้อข้าวจากภาคอื่น ขณะที่ภาคอีสานต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง

รายงาน : กวีวงศ์ ธีระกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 "ข้าวหอมมะลิไทย" เสน่ห์ข้าวไทย หอมไกลทั่วโลก

"พาณิชย์" เบรกขึ้นราคาข้าวถุง ขอผู้ประกอบการช่วยตรึงราคา

สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยเตรียมปรับเพิ่มราคาข้าวถุง 10 % หลังต้นทุนเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง