"ปังชา" จดลิขสิทธิ์ โซเชียลถาม "บิงซู - น้ำแข็งไสชาไทย" ขายต่อได้มั้ย ?

สังคม
28 ส.ค. 66
18:58
2,044
Logo Thai PBS
"ปังชา" จดลิขสิทธิ์ โซเชียลถาม "บิงซู - น้ำแข็งไสชาไทย" ขายต่อได้มั้ย ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถกสนั่นในสื่อสังคมออนไลน์ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" พร้อมเปิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

วันนี้ (28 ส.ค.2566) กลายเป็นประเด็นที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อร้านอาหารชื่อดัง ออกมาโพสต์ภาพเมนูอย่าง "ปังชา" พร้อมข้อความ ระบุว่า แบรนด์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบด้วย จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร เรียบร้อยแล้ว 

พร้อมระบุด้วยว่า สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย 

หลังโพสต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ พร้อมเกิดคำถามเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น สามารถตั้งชื่อร้านมีคำว่า ปัง หรือ ชา ได้หรือไม่ หรือหากจะขายขนมปัง น้ำแข็งไสชาเย็น ทำได้หรือไม่

โดยหนึ่งในนั้มมีนักกฎหมาย อย่าง นายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความ ได้โพสต์อธิบายเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านทางเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ข้อมูลที่เอามาประชาสัมพันธ์ต่อ อาจจะไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง

ทรัพย์สินทางปัญญา 3 ประเภท

นายพีรภัทร ระบุว่า เคสนี้จะมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประเภท

  • ลิขสิทธิ์ - เป็นการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งบ้านเราไม่มีระบบจดทะเบียน เข้าใจว่าเคสนี้เป็นการจดแจ้งประเภทงานจิตรกรรม
  • สิทธิบัตร - เป็นการคุ้มครองเรื่องงานประดิษฐ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเคสนี้มีผู้รู้บอกว่าเป็นการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้วยใส่น้ำแข็งไส
  • เครื่องหมายการค้า - เป็นการคุ้มครองแบรนด์ ซึ่งพวกคำว่า ชา ไม่สามารถจดได้อยู่แล้ว เพราะเป็นคำสามัญ เข้าใจว่าเขาจดคำรวม ๆ แล้วสละสิทธิส่วนนั้นออก

สรุป เคสนี้ทางร้านมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์, จดแจ้งลิขสิทธิ์ จริง แต่จะไปห้ามใครทำ "บิงซู" หรือ "น้ำแข็งไส" ใส่ชาไทย ไม่ได้ 

เปิดข้อกฎหมาย "จดลิขสิทธิ์ - จดทะเบียนสิทธิบัตร"

เพื่อความชัดเจนเราลองเปิดข้อกฎหมายเรื่อง "การจดลิขสิทธิ์" และ "การจดทะเบียนสิทธิบัตร" ดังนี้ 

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือ
การสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่จำกัดชนิดของการสร้างสรรค์ หรือวิธีการแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่าง ๆ หรือในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ กรรมวิธีการผลิตในอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ (Copyright) และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
(Industrial Property) 

1.ลิขสิทธิ์

คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะกระทำการใด ๆ กับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกในรูปแบบอย่างใด โดยประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่

- วรรณกรรม (รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

- นาฏกรรม

- ศิลปกรรม

- ดนตรีกรรม

- โสตทัศนวัสดุ

- ภาพยนตร์

- สิ่งบันทึกเสียง

- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ

- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย ทั้งนี้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุมถึงความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ วิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทาง วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

2.ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม

คือ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจ เป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึง เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม แบ่งออกได้ดังนี้ สิทธิบัตร, แบบผังภูมิของวงจรรวม, เครื่องหมายการค้า, ความลับทางการค้า, ชื่อทางการค้า, สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งวันนี้เราจะอธิายถึงประเด็นเรื่อง "สิทธิบัตร" 

สิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ หรือ การออกแบบ ผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองการคิดค้นที่เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์

2. อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์จากความคิด สร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยอาจเป็นการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงจากการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนเพียงเล็กน้อย

3.สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้ และแตกต่างไปจากเดิมผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิ เด็ดขาดหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

เลียนแบบเครื่องหมายการค้า 

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 109 ระบุว่า 

"เครื่องหมายการค้า" หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ทั้งนี้ บุคคลใดเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง