ห้ามใช้ "หลอดเก็บเลือด" บรรจุอาหาร-เครื่องดื่มเสี่ยงรับสารเคมี

สังคม
31 ส.ค. 66
11:14
664
Logo Thai PBS
ห้ามใช้ "หลอดเก็บเลือด" บรรจุอาหาร-เครื่องดื่มเสี่ยงรับสารเคมี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ห้ามเด็ดขาด! อย.เตือนอย่านำหลอดเก็บเลือดมาใช้บรรจุอาหาร-เครื่องดื่มในทุกกรณี เสี่ยงได้รับอันตรายจากสารเคมี ชี้ในหลอดมีการเคลือบสารเคมีบางชนิด ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ห่วงนำหลอดเก็บเลือดที่เคยใช้งานแล้วมาทำความสะอาดใหม่ เสี่ยงเชื้อโรค

จากข้อมูลที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ว่า มีร้านค้าใกล้โรงเรียนได้นำหลอดเก็บเลือดมาใส่น้ำสีชมพู เพื่อจำหน่ายเป็นกล่องสุ่มให้เด็กรับประทานเป็นขนมนั้น

วันนี้ (31 ส.ค.2566) เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเตือนว่า หลอดเก็บเลือด (Blood collection tube) ถูกออกแบบมาสำหรับเก็บตัวอย่างเลือดจากร่างกายมนุษย์ เพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์

โดยภายในหลอดดังกล่าวมีการเคลือบสารเคมีบางชนิด เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งสารเคมีนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการสัมผัสหรือนำเข้าสู่ร่างกาย เช่น การรับประทาน

ดังนั้น การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุในหลอดเก็บเลือด จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ เพราะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ การนำหลอดเก็บเลือดที่เคยใช้งาน จากสถานพยาบาลแล้วมาทำ ความสะอาด เพื่อบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มจำหน่าย  ยังคงมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือเลือดที่ตกค้างอยู่ภายในหลอด ดังนั้น จึงไม่สมควรนำมาใช้ซ้ำในทุกกรณีแม้จะทำความสะอาดแล้วก็ตาม

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า ขอเตือนประชาชน อย่าซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

ก่อนหน้านี้ นพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือหมอแล็บแพนด้า โพสต์แชร์ข้อมูลจากกลุ่มดอนเจดีย์บ้านเรา ที่โพสต์สอบถามข้อมูล โดยหมอแล็บแพนด้า ระบุว่า

มันคือหลอดเก็บตัวอย่างเลือด

เวลาที่เราไปเจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล มันก็จะมีหลอดหลายสี ในหลอดแต่ละชนิดก็จะมีสารข้างในที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับหลอดสีแดงพลาสติก ข้างในเค้าจะพ่นสารที่เรียกว่า Serum Clot Activator เพื่อให้เลือดแข็งตัวเร็ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นซิลิกา ซึ่ง “ไม่ควรกิน” เพราะซิลิก้ามันไม่ใช่อาหาร แล้วที่สำคัญถ้าเกิดเด็กไปเจอหลอดแบบนี้ตกหล่นอยู่ ถ้ามันเคยใส่เลือดไปก่อนหน้านี้ แล้วเด็กเอามาเล่น อาจติดเชื้อได้  เราควรหลีกเลี่ยงการเอาของที่ไม่ใช่ภาชนะใส่อาหารมาใส่ดีกว่า

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง