4 ปัจจัย กับ 10 เมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจมน้ำ

ต่างประเทศ
31 ส.ค. 66
16:51
2,805
Logo Thai PBS
4 ปัจจัย กับ 10 เมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจมน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้าพูดถึงคำว่า "เมืองที่กำลังจะจมน้ำ" หลายคนคงนึกถึง เวนิส อิตาลี ซึ่งนั่นไม่ใช่ข้อมูลที่ผิด เพียงแต่ไม่ใช่แค่เวนิสเท่านั้นที่กำลังจะจม ยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ในโลกที่กำลังเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน โดยเฉพาะ "จาการ์ตา" ที่ขึ้นอันดับ 1 เมืองที่เสี่ยงจมไวที่สุด

10 อันดับเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำ

ข้อมูลจาก John englander ระบุว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นนั้น มาจากปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายและไหลลงสู่ท้องมหาสมุทร และยังมีปัจจัยร่วมอีกหลายอย่าง เช่น การระเหยตัวของน้ำทะเลที่มีผลมาจากภาวะโลกร้อน การเคลื่อนที่ของมวลดินที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน เป็นต้น

อันดับ 1 จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย 

จาการ์ตา ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะชวา เป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซีย และ เป็นเมืองที่จมเร็วที่สุดในโลก ในปี 2562 พื้นดินบริเวณกรุงจาการ์ตาทรุดตัวกว่า 30.5 ซม./ปี ทำให้ความสูงของพื้นดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากถึงร้อยละ 40 

ชาวอินโดนีเซียเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมจนเป็นเรื่องปกติ สาเหตุมาจากการขุดบ่อน้ำอย่างผิดกฎหมายทั้งในและรอบๆ จาการ์ตา ซึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำทะเลรอบเกาะชวาที่เพิ่มขึ้น และแหล่งน้ำจืดบนเกาะที่ลดลง นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าภายในปี 2573 จาการ์ตาจะจมลงใต้ทะเลอย่างถาวร 

เมืองจาการ์ตา เมื่อถูกน้ำท่วม

เมืองจาการ์ตา เมื่อถูกน้ำท่วม

เมืองจาการ์ตา เมื่อถูกน้ำท่วม

ด้วยปัญหา น้ำท่วมเมือง พื้นดินทรุด และ การขยายตัวของเมืองที่เกินรับไหว โจโก วิโดโด ปธน.อินโดนีเซีย จึงเสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปยังตำแหน่งที่อยู่ห่างออกไป 1,300 กม. บนเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงใหม่นี้จะถูกเรียกว่า "นูซันตารา" 

อันดับ 2 มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

มะนิลาเป็นเมืองอยู่ติดชายฝั่ง ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 13.24 มม./ปี บวกกับแผ่นดินที่ทรุดลงเฉลี่ย 10 ซม./ปี และการสูบน้ำบาดาล ทำให้เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เป็นอีกแห่งที่น่ากังวลกับปัญหาเมืองจมทะเล

The Straits Times ของสิงคโปร์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์กำลังอยู่บนเส้นทางหายนะทางสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีการลงทุนศึกษาวิจัยผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันการขยายเมืองไปสู่ชานเมืองมากขึ้น 

อันดับ 3 โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

การขยายตัวของเมืองที่แออัดขึ้น มีแม่น้ำไซ่ง่อนไหลผ่ากลางเมือง ทำให้สภาพดินทรุดตัวอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เมืองโฮจิมินห์ตกอยู่ในสภาพเมืองบาดาลภายในเวลาเพียง 30 นาทีหากมีฝนตกห่าใหญ๋ลงมา และต่อด้วยการจราจรโกลาหล รถติดหนักบนท้องถนนอีกหลายชั่วโมง

ผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามวิจัยว่า นครโฮจิมินห์เกือบทั้งหมดทรุดตัวลงปีละ 2-3 ซม. สาเหตุสำคัญมาจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินไป และการก่อสร้างอาคารสูงที่ยิ่งสร้างมาก พื้นดินก็ยิ่งทรุดมากและทรุดเร็วขึ้นทุกปี 

อันดับ 4 เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภูมิประเทศของ ลุยเซียนา ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนที่มีความเสี่ยงสูง ชั้นดินทรุดตัวมากกว่าปกติ นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เคยประเมินว่า ชั้นดินของ ลุยเซียนา จะทรุดลงปีละ 1 ซม. และจากปัญหาดินทรุดตัวนี้ ทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาเกือบ 100 ปีแล้ว จนกระทั่งพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาพัดถล่มในปี 2548 ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงพัดถล่มจนเมืองเกิดน้ำท่วมใหญ่

เมืองนิวออร์ลีน รัฐลุยเซียนา ขณะพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่ม

เมืองนิวออร์ลีน รัฐลุยเซียนา ขณะพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่ม

เมืองนิวออร์ลีน รัฐลุยเซียนา ขณะพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่ม

อันดับ 5 กรุงเทพฯ ประเทศไทย

ดินของ กทม. เป็นดินอ่อนและเป็นแอ่งกระทะกว่าร้อยละ 96 ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบกับการขยายตัวของเมือง การสูบน้ำบาดาล ยิ่งทำให้พื้นดินทรุดตัวหนักและไวขึ้น 

The New York Times รายงานผลวิจัยจาก Climate Central ว่าหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีความเป็นไปได้ว่า กทม. ในอนาคตทั้งหมดจะจมอยู่ใต้ทะเล และ กทม. จะจมไวขึ้น หากความหนาแน่นของจำนวนประชากรและเมืองยังไม่ถูกกระจายสู่ภายนอก

อันดับ 6 โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น

โอซากะเป็นเมืองชายฝั่งที่มีความเสี่ยงจมน้ำอีกเมืองหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มาจากปัจจัยดินทรุด ความเสี่ยงน้ำท่วมเมืองโอซากะคือ ภัยพิบัติ พายุ สึนามิ ซึ่งทางการต้องหาระบบป้องกันและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคคันไซ ที่มีประชากรหนาแน่น ได้รับความเสียหาย 

มีการประเมินว่าภายในปี 2613 โอซากะอาจต้องเผชิญความเสี่ยงผลกระทบคิดเป็นมูลค่าหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากภาวะน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมเมือง จึงมีแผนออกแบบเมือง อัปเกรดระบบป้องกันภัยรับมือไต้ฝุ่นและสึนามิ เพื่อรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น

อันดับ 7 ธากา ประเทศบังกลาเทศ

เมืองที่แออัด การจราจรติดขัด เป็นต้นเหตุให้บังกลาเทศติดอันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากอีกประเทศหนึ่งในโลก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลกระทบให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ตามรายงานของ The New York Times มหาสมุทรอาจท่วมพื้นที่บังกลาเทศมากถึงร้อยละ 17 และทำให้พลเมืองประมาณ 18 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นภายในปี 2593

อันดับ 8 เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ความมั่งคั่งและกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ของจีนเป็นที่น่าสนใจ แต่ในแง่ของเมืองที่มีความเสี่ยงจมน้ำ เซี่ยงไฮ้ก็เป็นหนึ่งในนั้น การขยายตัวของเมืองทำให้เซี่ยงไฮ้เผชิญปัญหาดินทรุดตัว ประกอบกับภูมิประเทศเป็นเมืองท่าติดทะเล ความเสี่ยงจึงมีมากกว่าปกติ 

ทีมวิจัยชาวอังกฤษระบุว่า หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและท่วมเมืองท่าทางเศรษฐกิจของจีนได้ แต่เซี่ยงไฮ้และทางการจีน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับภัยนี้  ปัจจุบันมีความพยายามเต็มที่ในการรักษาเมืองใหญ่เอาไว้ ด้วยการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม มีการออกแบบระบบระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำซูโจว แม่น้ำที่ไหลตัดผ่านเซี่ยงไฮ้

อันดับ 9 เวนิส ประเทศอิตาลี

นอกจากความสวยงามของเมืองที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมา เวนิส แล้ว สิ่งสร้างชื่อให้ เวนิส อีกอย่างคือ "เมืองที่กำลังจม" เพราะแผนที่เมืองที่เป็นคลองสลับซับซ้อน สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 

เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

เวนิสกำลังจมลงด้วยอัตรา 2 มม.ทุกปี เพราะถูกน้ำใต้ดินกัดเซาะขณะที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับน้ำหนักของอาคารที่กดทับชั้นดินมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ แต่ปัจจัยที่อันตรายต่อ เวนิส มากที่สุดคือ การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นจุดที่ เวนิส ตั้งอยู่ ทำให้มีโอกาสที่เมืองแห่งคลองจะจมและเอียงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งหมายความว่าฝั่งตะวันตกของเมืองจะสูงกว่าฝั่งตะวันออก

อันดับ 10 อเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์

อิยิปต์เป็นดินแดนที่อยู่กับแม่น้ำไนล์ และมีเมืองอเล็กซานเดรียเป็นเมืองชายฝั่ง มีรายงานว่าถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเพียง 50 ซม. บริเวณชายหาดของเมืองอเล็กซานเดรียจะจมลง และ แม่น้ำไนล์จะล้นท่วมเมือง ส่งผลกระทบต่อประชากรอียิปต์กว่า 8,000,000 คน

ทีมวิจัยอียิปต์พยายามรับมือกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงนี้ ด้วยการสร้างกำแพงและระบบป้องกันน้ำ และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2613 พื้นที่ริมฝั่งอาจจมหายไปบางส่วนจากปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

10 อันดับเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจม

10 อันดับเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจม

 4 ปัจจัยที่ทำให้แผ่นดินจมและน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

  1. แผ่นดินจม-น้ำทะเลเพิ่ม การทรุดตัวของแผ่นดิน จากพลังธรรมชาติทำให้เกิดส่วนต่างๆ ของพื้นผิวโลกทรุดตัวลง เช่น แผ่นดินไหว ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้เกิดพายุฝน เพิ่มระดับน้ำทะเล จนล้นเข้าสู่แผ่นดินที่ทรุดตัวอยู่แล้วได้ง่ายขึ้น
  2. การสูบน้ำบาดาล เป็นสาเหตุหลักจากฝีมือมนุษย์ในการทรุดตัวของแผ่นดินทั่วโลก และย่อมส่งผลกระทบต่อเมือง 
  3. การพัฒนาเมือง การระบายน้ำเพื่อทำการเกษตร ทำให้หน้าดินหายไป ดินแห้ง ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินมากขึ้น ไปเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ใต้ดินแลกเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปฏิกิริยาเหล่านี้จะทำให้ชั้นดินหดตัว และเกิดการทรุดตัวในที่สุด 
  4. น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ช่วยเพิ่มระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรทั่วโลกให้มากขึ้น ยิ่งอุณห๓ุมิโลกสูงขึ้นเท่าไหร่ การละลายจะไวขึ้นเท่านั้น

ที่มา : Citycracker,HowStuffWorks, Johnenglander, Nationalgeographic, Weforum

ข่าวที่เกี่ยวข้อง