“ราคาที่ดินมุกดาหาร” ภาพสะท้อนเศรษฐกิจ แนะสร้าง Story ดึงนักท่องเที่ยว

ภูมิภาค
31 ส.ค. 66
15:32
440
Logo Thai PBS
“ราคาที่ดินมุกดาหาร” ภาพสะท้อนเศรษฐกิจ แนะสร้าง Story ดึงนักท่องเที่ยว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 2549 นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้คนรู้จักจังหวัดมุกดาหารมากขึ้น ในฐานะเมืองชายแดนติดริมแม่น้ำโขง หลังจากที่แยกตัวออกมาจากนครพนม เพื่อมาตั้งจังหวัดเมื่อปี 2525

มุกดาหารเป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีเพียง 7 อำเภอ ประชากรราว 350,000 คน แต่ที่นี่กลับกลายยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดน และศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมกับทะเลจีนใต้

จุดแข็งของการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ก็คือ การมีสะพานมิตรภาพฯ ไทย-ลาว ที่เชื่อมต่อมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ประเทศลาว และเมื่อจะมุ่งที่เมืองเว้-ดานัง ของเวียดนาม สู่ทะเลจีนใต้

เส้นทางนี้เป็นทางราบ ไม่มีภูเขา เมื่อเทียบกับด่านพรมแดนนครพนม ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างถิ่น ปักหมุดขยายฐานการลงทุนและส่งออกมาที่มุกดาหาร นับตั้งแต่ที่เปิดใช้สะพาน

จะสังเกตได้ว่าราคาที่ดินในเมืองมุกดาหาร โดยเฉพาะรอบสะพานมิตรภาพฯ ราคาพุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา

หากนับตั้งแต่ในช่วงเปิดสะพานมิตรภาพฯ (2549) เดิมราคาที่ดินตกราคาไร่ละ 3-4 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน (2566) ราคาสูงถึงไร่ละ 7 ล้านบาท หากเป็นที่ดินติดริมแม่น้ำโขงราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 10 ล้านบาท

ส่วนที่ดินในตัวเมืองมุกดาหาร ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ราคาก็พุ่งสูงเช่นกัน โดยเฉพาะที่ดินรอบถนนตัดใหม่ในเขตเมือง วงแหวนด้านใน และวงแหวนด้านนอก

สมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ให้ข้อมูลว่า ที่ดินในเขตตัวเมืองมุกดาหาร ซึ่งมีค่อนข้างจำกัด สวนทางกับราคาที่ดินที่พุ่งสูงถึงไร่ละ 5 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย และส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเศรษฐีเก่าเมืองมุกดาหาร

ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด คนมุกดาหารและนักลงทุนจากต่างถิ่น ก็พอจะมีกำลังซื้อทั้งที่ดินเปล่า และอาคารพาณิชย์ เพราะราคาอยู่ที่ห้องละ 1.8-2.5 ล้านบาท แต่ปัจจุบันราคาอาคารพาณิชย์ดีดตัวสูงขึ้น ไปเริ่มต้นที่ราคา 3-5 ล้านบาท

ราคาที่ดินและอาคารพาณิชย์ ทั้งรอบสะพานฯ มุกดาหาร และในเขตตัวเมือง ที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว จากยุทธศาสตร์การเป็นเมืองด้านโลจิสติกส์ การขยายถนน 4 เลนเชื่อมกับสะพานการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และโครงการก่อสร้างสนามบินมุกดาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า นี่จึงกลายเป็นกับดัก ที่ทำให้คนเมืองมุกดาหาร หรือนักลงทุนต่างถิ่น เข้ามาลงทุนในพื้นที่

เมื่อถามว่า มีใครบ้างที่จะมีกำลังซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ได้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นกลุ่มทุนที่มีสายป่านยาว ทั้งเศรษฐีเก่าที่ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร เพราะฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยน้อย ทุนต่างถิ่น หรือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับความสวย ความงาม คลินิกต่าง ๆ กลุ่มเหล่านี้พอจะมีกำลังซื้อ

หากเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ กำลังซื้อไม่ถึง เพราะราคาค่อนข้างแพง ผ่อนเดือนละ 3-4 หมื่นบาท และที่สำคัญแบงก์ไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ นี่จึงกลายกับดักของการค้า การลงทุนในเมืองมุกดาหาร

เมื่อเทียบราคาที่ดินใน จ.มุกดาหาร ที่ราคาใกล้เคียง หรืออาจจะสูงกว่าเมืองหลักๆ ในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น โคราช หรือภาคตะวันออก ก็ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ ยังไม่ขยายฐานหรือเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่แล้วเสร็จ

ถ้าราคาที่ดินพุ่งสูงเช่นนี้ ไปลงทุนในจุดที่มันใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง หรือในเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC จะดีกว่า เพราะสะดวกในทั้งเรื่องการขนส่ง และต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า

เมื่อถามว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คนมุกดาหารจะได้อะไร นายสมศักดิ์ บอกว่า คนเมืองมุกดาหารไม่ได้อะไรมากนัก หากจะได้จากการเป็นเมืองชายแดน หรือศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนาคต ก็ไม่ถึง 5 % เพราะมุกดาหารเป็นเมืองเกษตร เช่น ปลูกข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ผลิตแล้วก็ส่งขายให้โรงสี หรือโรงงานอุตสาหกรรม

เลขาธิการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร มองว่า ชาวมุกดาหารควรจะวางจุดแข็งของตัวเอง เช่น การเป็นเมืองชายแดนที่ติดกับสะหวันนะเขต ซึ่งก็มีประชากรกว่า 1 ล้านคน ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดให้ชาวลาวเข้ามาท่องเที่ยว หรือจับจ่ายในเมืองมุกดาหาร นอกเหนือจากการจับจ่ายภายในห้างค้าปลีก-ส่ง

จุดแข็งของมุกดาหาร คือ เป็นเมืองผลิตโคขุนที่มีชื่อเสียง และเป็นเอกลักษณ์ของชาวมุกดาหาร คือ “โคขุนหนองสูง” ดังนั้น ชาวมุกดาหารควรจะพัฒนาโคต้นน้ำให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และยกระดับมาเป็นผู้ผลิตโคกลางน้ำ

หรือหากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างถิ่นเข้ามา ก็ควรที่จะสร้าง Story การเป็นเมืองชายแดน ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค หรือเมืองสายมู ซึ่งจุดนี้ จะทำให้มุกดาหาร เปลี่ยนจากเมืองผ่าน เป็นเมืองพัก ซึ่งจะทำให้คนมุกดาหารได้ประโยชน์จากการเป็นเมืองชายแดน

รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง