ลุงตู่ “Soft landing” ลาบ้านนรสิงห์ ลงจากหลังเสือ

การเมือง
31 ส.ค. 66
17:27
668
Logo Thai PBS
ลุงตู่ “Soft landing” ลาบ้านนรสิงห์ ลงจากหลังเสือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มีคำเปรียบเปรยว่า การอยู่ในอำนาจว่ายากแล้ว แต่การเดินออกจากอำนาจนั้นยากยิ่งกว่า และยิ่งเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน อย่าง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งอยู่มานานถึง 9 ปีเต็ม จึงถูกจับจ้องจากสายตาคนไทยและต่างชาติว่า จะเดินลงจากหลังเสืออย่างไร

การพบปะระหว่าง 2 นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่บ้านนรสิงห์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการอำลา “ทำเนียบ” เพื่อส่งต่อให้รัฐนาวา เศรษฐา 1 วันนี้ (31 ส.ค) ท่ามกลางการรุมล้อมของข้าราชการเมือง และเจ้าหน้าที่ อาจกล่าวได้ว่า “ลุงตู่” ก้าวลงจากอำนาจได้อย่าง Soft landing

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ว่า หากดูจากการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่า เป็นไปตามเงื่อนไข ไม่น่าเกลียด แม้ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง แต่การก้าวลงจากอำนาจกับภาพความสัมพันธ์ของรัฐบาลใหม่เป็นการลงอย่างสวยงาม และถือเป็นความสำเร็จ

“ในเกมอำนาจมองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ วางแผนได้อย่างชาญฉลาด แม้ว่าต้องแลกด้วยความสัมพันธ์ที่อาจจะไม่ค่อยดีนักกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งการส่งต่ออำนาจในลักษณะนี้ ถือเป็นการวางกลเกมทางการเมืองเพื่อที่จะให้ตัวเองมีทางลงที่ดี ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐบาลใหม่ได้ และมีการวางคนของตนเองเอาไว้ในระบบกลไกสำคัญๆ ได้อย่างลงตัว ซึ่งฝั่งหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐา ก็ยอมรับเงื่อนไขนี้ด้วย”

หากเปรียบเทียบกับดุลยภาพของอำนาจของลุงป้อม “พล.อ.ประวิตร” นั้น รศ.ดร.โอฬาร บอกว่า ถือว่าช้ำมาก เพราะประมาท โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยคิดว่าเหนียวแน่น และที่เคยคิดว่าจะได้ตำแหน่งที่ปรารถนา แต่กลเกมทางการเมืองไม่ได้เป็นแบบที่ต้องการ

พล.อ.ประวิตร น่าจะช้ำมาก หากดูจากท่าทีแสดงออกมา ไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ในนัดสุดท้าย ไม่ปรากฏตัว ไม่แสดงความยินดีกับนายกฯใหม่ในพิธีโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการปิดตำนานบ้านป่ารอยต่อ กลายเป็นบ้านพักชายชราผู้สิ้นหวังเป็นภาวะสิ้นหวัง เพราะหวังไว้มาก และด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นที่มาของการประกาศจะลาออกจาก สส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่ยังคงสถานะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ไม่อาจไปนั่งในสภาในสถานะที่เป็น สส.อย่างเดียว เนื่องจากเคยอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ตำแหน่งก็ไม่มี และคงต้องปิดตำนานตัวเองไปในที่สุด เนื่องจากแพ้ในเกมหมดรูป หลังจากนี้คงจะทำอะไรพรรคเพื่อไทยไม่ได้เพราะพลังประชารัฐได้กลายสภาพเป็นเสียงส่วนน้อยไปแล้ว นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคฯและไผ่ ลิกค์ รองหัวหน้าพรรคฯ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทักษิณ ไม่น้อยไปกว่า พล.อ.ประวิตร

และหากบุคคลทั้ง 2 รายชื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการตามโผจริง แสดงว่า พรรคเพื่อไทย อาจจะไม่ให้ราคากับ พล.อ.ประวิตร มากนัก ยกเว้นกรณีที่โผ รมช.ไม่ใช่ ไผ่ ลิกค์ แม้ พล.อ.ประวิตรจะยังอยู่ แต่ขณะนี้อำนาจเปลี่ยนมือไปแล้ว ดังนั้นเป้าหมายต่อไปอาจจะพุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทย ในกรณีที่หากจะเอาคืน แต่ตอนนี้สรุปได้ว่า เพื่อไทยชนะหมดทุกเกม

รศ.ดร.โอฬาร ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ เกมการเมืองปกติ หักหลังกันไปมา ซึ่ง ทักษิณ ชินวัตร ก็ประเมินแล้วว่า พรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบ เดิมพล.ประวิตร อาจจะวางแผนหักหลังทักษิณ แต่ไม่มีใครคาดถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะร่วมมือกับทักษิณ หักหลังพล.อ.ประยุทธ์ กันเอง ต่างคนต่างวางแผนหักหลังกัน

เกมตรงนี้เพื่อไทยชนะ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงว่า ทำอย่างไรอีก 10 เปอร์เซ็นต์จึงจะทำให้ ทักษิณไม่ต้องติดคุก

แต่รัฐบาลเพื่อไทย ก็มีเงื่อนไขในเชิงโครงสร้าง หากบริหารอำนาจดีๆ น่าจะอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี เพราะการตั้งรัฐบาลมาจากฉันทานุมัติของเครือข่ายอำนาจในสังคมไทย ซึ่งเกิดภาวะภัยคุกคามจากศัตรูคนเดียวกัน คือ พรรคก้าวไกล ทำให้เขามารวมกันได้

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดการผลประโยชน์อย่างไร และน่าจะมีการต่อรองกันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการบริหารในทางเศรษฐกิจการเมือง ต้องไม่ลืมว่า ธรรมชาติของการเมืองไทย เป็นการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมาก การลงทุนธุรกิจการเมือง ไม่มีนักการเมืองคนไหน แม้กระทั่งพรรคก้าวไกล ที่อยากจะยุบสภาภายใน 2 ปี

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า เงื่อนไขส่วนใหญ่ของพรรค การเมืองจะอยู่ที่ผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก แต่ถ้ารัฐบาลถอนทุนกันเร็วเกินไป และนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอรัปชัน แล้วสังคมยอมรับไม่ได้ เพราะความไม่พอใจมีมาตั้งแต่การตั้งรัฐบาลแล้ว หากการบริหารหมดความชอบธรรมก็จะทำให้อยู่ไม่ครบเทอม

เงื่อนไข ทักษิณ ไม่ติดคุก จะต้องดูหลังตั้ง ครม.ว่า กระแสนี้จะจุดติดหรือไม่ แม้จะมีผู้ออกมาเคลื่อนไหว แต่ยังน้อย หรืออาจจะรอให้สถานการณ์สุกงอมมากว่านี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษอีก ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทูลเกล้าฯ ขอพระราช ทานอภัยโทษในคดีทุจริตคอรัปชันเลย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ เสมือนหนึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งขึ้นมา เพื่อให้หาเหตุผลและอธิบายเซ็นรับรอง ซึ่งปัจจุบันยังไปไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว จึงต้องประเมินการเคลื่อนไหวต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร และหากกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาลจุดประเด็นนี้ติด ก็มีโอกาส แต่อีกทางหนึ่งเชื่อว่า พรรคก้าวไกลเองก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปเลือกตั้งครั้งใหม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง