"ยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส" ศึกษาดินถล่ม บริเวณเขาโอลิมปัส

Logo Thai PBS
"ยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส" ศึกษาดินถล่ม บริเวณเขาโอลิมปัส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยานอวกาศมาร์ส เอ็กซ์เพรส ของยุโรปศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาบริเวณภูเขาที่สูงที่สุดของดาวอังคาร ประกอบสร้างเป็นโมเดลอธิบายการเคลื่อนที่ของหน้าดินบนดาวอังคาร

ดาวอังคารเป็นที่อยู่ของภูเขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ชื่อว่า “เขาโอลิมปัส” สูงถึง 21.9 กิโลเมตร หรือ 2.5 เท่าของความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1971 โดยยานมาริเนอร์ 9 ขององค์การนาซา

นับแต่การค้นพบดังกล่าว เขาโอลิมปัสก็เป็นหนึ่งในจุดสนใจของนักวิทยาศาสตร์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยานโคจรดาวอังคารอย่างยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส ในการสำรวจพื้นที่รอบ ๆ เขา ไปจนถึงการวิเคราะห์ว่าภูเขาโอลิมปัสมีลักษณะเป็นอย่างไรในอดีต เมื่อดาวอังคารเพิ่งถือกำเนิดเกิดได้ไม่นาน

จุดที่เรียกว่า “Lycus Sulci” นั้นเป็นหนึ่งในจุดที่น่าสนใจที่สุดของเขาโอลิมปัส ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบของเขาโอลิมปัสยาวออกไปกว่าหลายร้อยกิโลเมตรจากยอดเขา พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะถูกดันจนเกยกันเป็นทบ เกิดเป็นยอดเขาขนาดเล็กขึ้นมา ซึ่งบางบริเวณมีความชันมากถึง 7 กิโลเมตร

จากการศึกษาด้วยยานมาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์และยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณรอบ ๆ โอลิมปัสมอนส์น่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของฐานภูเขามาก่อน ก่อนที่จะถล่มลงมาในลักษณะของดินถล่มเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน

การถล่มนี้คาดว่าน่าจะเกิดจากปริมาณของลาวาในยุคที่เขาโอลิมปัสยังร้อนอยู่ ลาวาดังกล่าวไหลลงมาบริเวณรอบ ๆ เขาแล้วทำให้หินในบริเวณนั้นละลายจนมันรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหว ริมเขาโอลิมปัสจึงถล่มลงมาและไหลออกมารอบ ๆ

ด้วยปริมาณของหินจากขนาดของเขาโอลิมปัส หินที่ถล่มลงมาไถลไปได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากยอดเขา ไกลสุดถึง 1,000 กิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงขนาดของปรากฏการณ์ดินถล่มของภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อยิ่งไถลไปไกลมากเท่าใด หินเหล่านี้ก็เจอกับแรงกดและแรงยืดจากแรงเสียดสีกับพื้นผิวของดาวอังคารมากเท่านั้น ทำให้หินบริเวณ Lycus Sulci มีลักษณะเป็นริ้วรอยหรือรอยยับ นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านไป การกัดเซาะโดยสภาพภูมิอากาศเช่นลม ยิ่งทำให้ริ้วรอยเหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่บนดาวอังคารเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นบนโลกอีกด้วย แต่ในขนาดที่เล็กกว่า เช่น รอบ ๆ ภูเขาไฟฮาวายและหมู่เกาะคานารีที่เคยเกิดหินถล่มขึ้นในอดีต

ที่มาภาพ: ESA, DLR, FU Berlin
ที่มาข้อมูล: ESA

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง