เส้นทางธุดงควัตร "ครูบาน้อย" เกจิดังเมืองน่าน

สังคม
2 ก.ย. 66
16:41
4,117
Logo Thai PBS
เส้นทางธุดงควัตร "ครูบาน้อย" เกจิดังเมืองน่าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครูบาน้อย พระญาณวิไชย มีความสนใจทางธรรมและตั้งมั่นจะบวชเป็นพระตั้งแต่จำความได้ เมื่อมีเวลาว่างมักนั่งสมาธิ ชื่นชอบการนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระเจดีย์และวัด เมื่อเป็นพระก็ช่วยเหลือพุทธศาสนาจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ชาวพุทธมากมาย โดยเฉพาะประชาชนชาวน่าน

ครูบาน้อยเปิดเผยเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์ใน เว็บไซต์ ครูบาน้อย พระญาณวิไชย ภิกขุ ว่าเมื่ออายุ 8 ขวบก็เริ่มสวดมนต์ พยายามท่องคาถาชินบัญชร เป็นเด็กที่ไม่ชอบยิงนกตกปลา ชอบนั่งสมาธิในห้องพระคนเดียวเงียบๆ 

เมื่ออายุ 12 ปี หลังจากเรียนจบ ป.6 ก็ขออนุญาตพ่อแม่บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาแดง แต่ตั้งมั่นว่าจะก้าวเข้าสู่ร่วมผ้ากาสาวพัตร เดินบนเส้นทางของบรรพชิตตลอดไป

ท่องเสขิยวัตร 75 เพื่อเป็นลูกศิษย์วัดเบญจมบพิตร

ขณะที่เรียนพระปริยัติธรรม ครูบาน้อยในขณะนั้นได้ยินกิตติศัพท์ของ "พระครูบาเจ้าบุญช่ม ญาณสังวโร" แห่งวัด พระธาตุดอนเรือง เมืองพง ประเทศพม่า จึงคิดจะไปถวายตนเป็นศิษย์ศึกษาธรรม แต่สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศพม่า กำลังเดือดร้อน แต่ความตั้งใจกลับต้องยุติลง ด้วยคำขอร้องจากบุพการีที่อยากให้ข้าพเจ้าเรียนปริยัติธรรมต่อ จึงต้องเดินทางจาก จ.น่าน เข้า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5 กทม. 

หากพระเณรรูปใดจะเข้าอยู่ภายในสังกัด ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดนี้ ต้องท่องเสขิยวัตร 75 และสามเณรสิกขา ต่อหน้าพระผู้ใหญ่ให้ได้ และครูบาน้อยก็เป็นเพียง 1 ใน 2 สามเณรที่ผ่านการทดสอบตั้งแต่ครั้งแรก ได้เป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดของห้องเรียน เรียนปริยัติธรรมในชั้นประโยค ป.ธ.5

ยอมสอบตก เพื่อศึกษากรรมฐานธุดงค์

ระหว่างที่เรียน ป.ธ.5 ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม ครูบาน้อยพบว่าตนเองยังมีความตั้งใจจะออกปฏิบัติธรรม และไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง จึงพยายามค้นคว้าวิธีปฏิบัติ จนได้ยินชื่อของ พระครูบาอินทร แห่งวัดสันป่ายางหลวง จ.ลำพูน จึงคิดอยากไปศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับท่าน

จึงนั่งพิจารณา ระหว่างสอบผ่านกับสอบตก ถ้าสอบผ่าน ชั้น ป.ธ. 5 จะต้องถูกบังคับให้เรียนต่อ ป.ธ. 6 แต่ถ้าสอบตกก็จะเป็นข้ออ้างในการยุติการเรียนและออกปฏิบัติธรรม ภายหลังสอบเสร็จ จึงเข้ากราบลาพระอาจารย์ และอำลาวัดเบญจมบพิตรฯ แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดลำพูน เพื่อออกศึกษากรรมฐานธุดงค์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ 

และเดินทางไปยังวัดสันป่ายางหลวง พร้อมถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษากรรมฐานต่อครูบาเจ้าอินทร ปัญญาวัฑโน นับเป็นปฐมอาจารย์องค์แรกที่ประสาทพระกรรมฐานให้แก่ครูบาน้อย ต่อมาครูบาน้อยได้เดินทางไปวัดห้วยบง อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อขอปฏิบัติกรรมฐานอีก จนได้ทราบข่าวดีว่า ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ได้เข้ามาจำพรรษาที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จึงได้กราบลาพระครู และมุ่งหน้าเดินทางไป จ.เชียงราย ทันที กระทั่งได้พบครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจจริง แต่ยังไม่ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ในขณะนั้นทันที

เว็บไซต์ : ครูบาน้อย พระญาณวิไชย ภิกขุ

เว็บไซต์ : ครูบาน้อย พระญาณวิไชย ภิกขุ

เว็บไซต์ : ครูบาน้อย พระญาณวิไชย ภิกขุ

ถวายตนเป็นศิษย์ครูบาบุญชุ่ม นักบุญล้านนา

หลังจากแยกทางกับครูบาบุญชุ่ม หลังจากนั้นครูบาน้อยก็ใช้ชีวิตกับการธุดงค์ เรียนรู้ รับประสบการณ์กับโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยครูบาน้อยเล่าว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่เลิศที่สุด ใจที่บริสุทธิ์ คือ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ความรู้บางอย่างอาจไม่มีสอนในโรงเรียนหรือมหาลัยใดๆ ในโลก หรือจารึกเป็นตัวอักษรอยู่ในตำราเล่มใด

แต่หากเราท่านผู้ที่ต้องการศึกษา พึงเรียนรู้ด้วยตนเอง จากชีวิตจริงของตนและประสบการณ์ที่เป็นเสมือนตำราที่ไร้อักษรเล่มใหญ่ของตนเอง

จนกระทั่งได้ปลีกวิเวกที่ดอยแม่ปั๋งนางแล ครูบาสม ลูกศิษย์ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ได้มารับตัวไปที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และได้พบกับครูบาบุญชุ่มอีกครั้ง จนได้ถวายตัวเป็นศิษย์ เรียนรู้ความหมายของคำว่า ผู้ให้ จากครูบาบุญชุ่ม แต่โอกาสที่ได้เรียนรู้ก็อยู่ไม่นาน เมื่อได้รับการติดต่อให้นิมนต์ให้กลับ จ.น่าน เพื่อสร้างพระธาตุบนดอยม่อนวัดให้สำเร็จ 

สร้างพระธาตุเสร็จเพียงอายุ 17 ปี

ครูบาน้อยในวัย 17 ปี ได้จัดหาทุนทรัพย์จากการบริจาคของผู้มีจิตศัทธาได้เงินก้อนแรก 160,000 บาท สร้างพระธาตุศรีสังฆรัตนคีรี บนดอยม่อนวัด จ.น่าน จนสำเร็จในเวลา 7 เดือน ถือเป็นที่แรกที่พิสูจน์กำลังใจและความสามารถบนเส้นทางแห่งการสร้างบารมี ที่สามเณรอายุ 17 ปี รับภาระการเป็นผู้นำทุกอย่าง ลบคำสบประมาทของคนอื่น หลังสร้างพระธาตุเสร็จ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสุงฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุในองค์เจดีย์และได้ทำการยกฉัตรฉลองสมโภชขึ้น ในวันที่ 9 ธ.ค.2550

ถูกบีบออกจากวัด เดินหน้าปฏิบัติธรรมต่อ

เมื่อปฏิบัติภารกิจแรกสำเร็จ ครูบาน้อยก็ถูกบีบให้ออกไปจากวัด โดยท่านเดินทางออกจากวัดตั้งแต่เช้ามืด มิได้ร่ำลาหรือบอกให้ใครทราบเลยแม้แต่พ่อแม่และญาติๆ ตั้งใจมุ่งเดินทางตามลำพัง โดยหวังจะกลับไปศึกษาธรรมต่อกับครูบาบุญชุ่ม แต่ระหว่างทางได้ยินกิตติศัพท์การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของ ครูบามหาป่านิกร ชยยฺยเสโน 

จึงตัดสินใจ มุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุแก่งสร้อย อ.สามเงา จ.ตาก เพื่อขอถวายตัวเป็นศิษย์ ครูบามหาป่านิกร ชยยฺยเสโน หลังจากปฏิบัติธรรมกับครูบานานพอสมควร ก็กราบลาครูบาเพื่อไปหาครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจอีกครั้ง 

แต่ก็ไม่ได้กลับไปหาครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจ เพราะญาติโยมจาก จ.น่าน มาตามกลับให้จำวัดพระธาตุศรีสังฆรัตนคีรีฯ และเลือกปฏิบัติธรรม ณ ถ้าเชตวัน ยามใดที่ว่างจากภารกิจการงาน ครูบาน้อยจะปลีกตัวออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานในที่ต่างๆ และพักอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ตามโอกาส เช่น อ.ลี้ จ.ลำพูน อ.แม่แตง อ.แม่ริม ยอดดอยภูโอบ จ.เชียงใหม่ แล้วก็กลับมาพระธาตุศรีสังฆฯ ตามโอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค.2552 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดสันทะ ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ได้รับนามฉายาว่า ญาณวิชชโย ภิกขุ

ครูบาน้อยเริ่มปฏิบัติธรรมโดยปลีกวิเวกตัดขาดจากโลกภายนอก ณ วัดถ้ำเชตะวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2557 - 15 ต.ค.2560 รวมเวลากว่า 3 ปี โดยครูบาน้อย ฉันอาหารเพียง 1 มื้อ ซึ่งเป็นอาหารมังสวิรัติ 

เปิดพินัยกรรมครูบาน้อย ฌาปนกิจให้เสร็จใน 1 วัน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 เวลา 00.49 น. ที่ผ่านมา ครูบาน้อยได้ละสังขารด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีกำหนดประกอบพิธีถวายเพลิงศพในวันที่ 31 ส.ค. เวลา 20:09 น. สิริอายุ 34 ปี ตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในพินัยกรรมการถวายเพลิงสรีระสังขาร "ครูบาน้อย" เป็นไปตามพินัยกรรมที่ครูบาน้อยได้เขียนไว้ล่วงหน้าเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 

โดยเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน ได้เปิดพินัยกรรม คำสั่งเสีย ของครูบาน้อยว่า ห้ามอาบน้ำศพ ห้ามเปลี่ยนผ้า ห้ามชันสูตร ห้ามเรี่ยไรบริจาค ห้ามเอารูปไปหากินกับญาติโยม ห้ามประดับดอกไม้ ผ้าโยง และให้ดำเนินการถวายเพลิงสรีระสังขารในวันเดียวกัน ซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 20.09 น. ณ วัดถ้ำเชตวัน อ.นาน้อย จ.น่าน

อ่านข่าวอื่น :

"เซาลา" ถล่มเข้าฮ่องกง ทางการเตือน ปชช.เฝ้าระวัง

เกินความสามารถ "กัญจนา" โพสต์นำ "2 ช้างไทย" กลับไม่ได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง