เปิดความหมาย "การถวายสัตย์ปฏิญาณ"

การเมือง
5 ก.ย. 66
17:24
1,257
Logo Thai PBS
เปิดความหมาย "การถวายสัตย์ปฏิญาณ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกถือว่า การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน ก่อนเข้ารับตำแหน่งที่สำคัญในการบริหารประเทศ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องทำ สำหรับประเทศไทย นายกฯ และ ครม. ต้องกระทำสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่ พิธีนี้เรียกว่า "การถวายสัตย์ปฏิญาณ"

ความหมาย "การถวายสัตย์ปฏิญาณ"

การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา และ ตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ และ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณมีความแตกต่างกับการปฏิญาณตน คือ

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ

ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์

ความเป็นมาของการถวายสัตย์ปฏิญาณ

ประเพณีการกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเพณีนี้เรียกว่า "พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา"

ในหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชื่อ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" เรียกว่า "พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล" หรือบางทีเรียกว่า "ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา" ภายหลังประเพณีนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2475

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ขึ้นใหม่

สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ได้แก่ ทหารและตำรวจ ที่ได้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติในการต่อสู้กับศัตรูของบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นอัศวิน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงแม้ว่าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาครั้งนี้ จะมิได้กระทำกันในบรรดาข้าราชการทั้งหมดดังเช่นเมื่อสมัยก่อนก็ตาม แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการฟื้นฟูพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวกันว่า คำสัตย์ปฏิญาณ หรือ คำสาบานของผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2512 ปรากฏเป็นถ้อยคำที่ได้ปรับแต่งขึ้นใหม่ เพื่อให้สมกับกาลสมัย

เพราะเดิมนั้น ใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาไทยโบราณ สำหรับการอ่านโองการแช่งน้ำและการชุบพระแสงศาสตราวุธนั้น พระราชครูพราหมณ์ เป็นผู้กระทำโดยขอให้น้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีฤทธิ์มีอำนาจ อาจบันดาลให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นไปตามคำสาบานแล้ว ยังสาปแช่งผู้ที่คิดทรยศไม่ซื่อตรง แต่ได้ให้พรต่อผู้ที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกตัญญู ส่วนคำสัตย์ปฏิญาณนั้น มีผู้อ่านนำ โดยให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นผู้ว่าตาม เพื่อที่จะให้มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต่อชาติบ้านเมือง และต่อหน้าที่การงาน

เมื่อจบแล้วให้นำพระแสงศาสตราวุธต่างๆ ลงชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ครั้นแล้ว ให้นำน้ำซึ่งผ่านพิธีกรรมต่างๆ แล้วนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เสวยด้วย ถ้วยสำหรับตักน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นเคยปรากฏจารึกเป็นอักษรขอมว่า "สจฺจํ เว อมตา วาจา"

ฉะนั้นผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงต้องถือว่าตนเป็นผู้ที่ได้ดื่มน้ำสาบานร่วมกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพ

แม้ว่าในปัจจุบัน คนรุ่นหลังอาจจะไม่ค่อยได้เห็นพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้วก็ตาม แต่การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ หรือการสร้างความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานี้ ก็ยังมีการกระทำในรูปการปฏิญาณหรือการสาบานอยู่อีกไม่น้อย เช่น ในวงราชการทหาร ตำรวจ ลูกเสือ แพทย์ และสถานศึกษาอื่นๆ เช่น เวลารับปริญญาบัตร เป็นต้น อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้ให้กระทำด้วยเช่นกัน

การถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 161 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของ รัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า, หอสมุดรัฐสภา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง