"แอปเปิล" โดนกดดัน หลังอาจยกเลิกการ "ตรวจจับภาพล่วงละเมิดทางเพศเด็ก"

Logo Thai PBS
"แอปเปิล" โดนกดดัน หลังอาจยกเลิกการ "ตรวจจับภาพล่วงละเมิดทางเพศเด็ก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาตัวเลือกระหว่างความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง เมื่อแอปเปิล (Apple) เตรียมหยุดพัฒนาระบบตรวจจับภาพหรือวิดีโอการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กบนระบบไอคลาวด์ (iCloud) ของตัวเองในขณะที่กลุ่มต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก กดดันแอปเป

ตั้งแต่ปี 2012 ที่แอปเปิลเปิดตัวระบบไอคลาวด์ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ หรือรายชื่อผู้ติดต่อขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์ได้ ก็ได้มีเสียงเรียกร้องมาว่า แอปเปิลสามารถใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะเนื้อหากลุ่มการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม แอปเปิลนั้นเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงด้านการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซีอีโอ ทิม คุก ยืนยันว่า แอปเปิลไม่อ่านข้อมูลบนคลาวด์ของผู้ใช้งานและไม่ได้มีการนำข้อมูลไปประมวลผลใด ๆ ทั้งสิ้น (โดยปกติ การประมวลผลต่าง ๆ จะถูกทำบนไอโฟนหรือแมคเท่านั้น) ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะต้องผ่านขั้นตอนการเข้ารหัสข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย

การพัฒนาระบบสำหรับตรวจจับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จึงนับว่าเป็นการขัดกับนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวดังกล่าว เพราะจำเป็นจะต้องประมวลผลข้อมูลบนคลาวด์ หรือมีการถอดรหัสข้อมูลบางส่วนออกมา แม้ขั้นตอนทุกอย่างจะทำโดยคอมพิวเตอร์ที่ไม่ผ่านสายตาของมนุษย์ แต่นี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่เชื่อมั่นต่อการรักษาข้อมูลของผู้ใช้

สำนักข่าว Wired ได้รายงานกรณีดังกล่าวว่า ระบบตรวจเนื้อหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (Child Sexual Abuse Material หรือ CSAM) ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 และมีการแถลงข่าวอีกครั้งในปี 2021 ว่าแอปเปิลจะไม่นำระบบดังกล่าวมาใช้ สิ่งนี้ทำให้กลุ่ม Heat Initiative ออกมากล่าวว่า การกระทำของแอปเปิลนั้น “น่าผิดหวัง”

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากแอปเปิลได้ให้สัมภาษณ์กับ Wired ว่า แอปเปิลเองไม่สนับสนุน และมีความต้องการที่จะตัดห่วงโซ่ของพฤติกรรมดังกล่าว แต่หลังจากที่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบนโลกดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย และนักสิทธิเด็กแล้ว แอปเปิลได้มาซึ่งข้อสรุปว่าการพัฒนาระบบดังกล่าวจะไม่สามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้

เหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้อาจทำให้เรานึกถึงกรณีการที่แอปเปิลไม่ยอมปลดล็อกโทรศัพท์ไอโฟนของผู้ต้องสงสัยคดีกราดยิงในสถานบันเทิง ที่แคลิฟอร์เนียในปี 2015 ให้กับสำนักงานสืบสวนของสหรัฐอเมริกา (FBI) จนเกิดเป็นกระแสสังคมใหญ่โต

ท่าทีของแอปเปิลนี้ยังคงถูกจับตามองต่อไป ซึ่งก็อาจเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของแอปเปิลในเวลาเดียวกัน

ที่มาข้อมูล: wired

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง