23 ปี เหมืองทองอัครา มหากาพย์ 3 ฝ่าย รัฐ-เอกชน-ชาวบ้าน

สิ่งแวดล้อม
11 ก.ย. 66
12:12
7,594
Logo Thai PBS
23 ปี เหมืองทองอัครา มหากาพย์ 3 ฝ่าย รัฐ-เอกชน-ชาวบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

15 มี.ค. 2566 เหมืองทองคำชาตรีที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กลับมาเปิดดำเนินการเหมืองทองอีกครั้ง หลังรัฐบาลไทยปิดเหมืองไปนานกว่า 6 ปี จากประเด็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม

เหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ตั้งอยู่พื้นที่คาบเกี่ยว 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก "เหมืองแร่ชาตรี" เคยเกิดข้อพิพาทในชื่อ "เหมืองทองอัครา" หลังบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ในฐานะบริษัทแม่ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เมื่อเครือข่ายประชาชนและชาวบ้าน ร้องเรียนรัฐบาลว่าเหมืองทองก่อมลพิษต่อพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์

โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมองว่า คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย" และเป็นคำสั่งที่ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติที่ 72/2559 สั่งปิดเหมืองทองอัครา เมื่อเดือน พ.ค. 2559

"ปฐมบท" เหมืองทองคำจาก "ชาตรี-สู่ อัครา"

2543 รัฐบาลเปิดให้สัมปทานขุนเหมือง ชื่อ "ชาตรี" บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก โดย บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด (ออสเตรเลีย) ได้สิทธิสัมปทาน และมอบหมายให้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินกิจการขุดเหมือง

• แหล่งแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ถูกสำรวจครั้งแรกในปี 2538 โดย บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด คือ ผู้ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ สำรวจในขณะนั้น หลังสำรวจพบสินแร่ทองคำกว่า 14 ล้านตัน บริษัทประเมินว่า คุ้มค่าในการทำเหมืองเชิงพาณิชย์ จึงเริ่มขอใบประทานบัตรทำเหมือง 1,200 ไร่ จนเปิดเป็นเหมืองได้ในปี 2544 ก่อนผลิตทองคำครั้งแรก ในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน

อ่านข่าว : “ประทานบัตร-อาชญาบัตร” คืออะไร

• ภายหลัง บริษัท "อัคราไมนิ่ง" เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ถือครอง ประทานบัตร 14 แปลง (หากไม่ถูกสั่งปิดในปี 2559 จะทำเหมืองได้ถึงปี 2571)

ผลกระทบ "สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม" ชาวบ้านรอบเหมือง

• หลังเหมืองแร่ทองคำเปิดเพียง 2 ปี ชาวบ้านรอบเหมืองเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

• ในปี 2553 กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศว่า บ่อบาดาล ระบบประปาหมู่บ้านหนองระมาน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ติดกับบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ ซึ่งมีค่าแมงกานีสสูงผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าใช้แหล่งน้ำในธรรมชาติ

• ในปี 2554 ชาวบ้านรอบเหมืองจำนวน 30 คน เข้ารับการตรวจเลือดที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลการตรวจพบว่ามีสารโลหะหนักและสารไซยาไนด์ สูงกว่าค่ามาตรฐาน

• เดือน ส.ค. 2557 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่สุ่มตรวจร่างกายชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ จำนวน 1,004 คน พบชาวบ้านมีสารหนูและแมงกานีสในเลือด สูงกว่าค่ามาตรฐาน 563 คน ในจำนวนนี้ 169 คน เป็นเด็ก

• ต่อมา ม.ค. 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สุ่มตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองอีกครั้ง พบว่ามีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัทหยุดประกอบกิจการ 30 วัน

• ช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยการแจกคูปองให้ชาวบ้าน สัปดาห์ละ 40 บาท นำไปแลกผักมาบริโภค

อ่านข่าว : ใช้คูปองแลกพืชผักปลอดสารพิษ

• ธ.ค.2559 มีคําสั่ง คสช.ให้ระงับกิจการเหมืองทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560

อ่านข่าว : เปิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 "ยาแรง" แก้ปัญหาเหมืองทอง ระงับกิจการ-ห้ามต่อประทานบัตร

• ต่อมา เม.ย.2560 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ส่งหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยว่า ละเมิดความตกลงเขตการค้าเสรีไทย -ออสเตรเลีย

• พ.ย.2560 บริษัท คิงส์เกต ได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย เรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 26,000 ล้านบาท )

• 2563 คณะกรรมการแร่ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

• 2564 น.ส.จิราพร สินธุไพร อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถึงกรณีการใช้ ม.44 มีคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำดังกล่าว และอาจนำไปสู่การต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนเป็นหลักหมื่นล้าน

• 31 ม.ค.2565 บริษัท อัคราฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลียว่า คดีพิพาทฯ ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะเลื่อนการอ่านคำชี้ขาด เพื่อเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่าย เจรจาตกลงกัน

• 6 ก.พ.2565 กลุ่มคัดค้านการเปิดเหมืองทองและกลุ่มสนับสนุนการเปิดเหมืองแร่ทองคำ ยื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตใบประทานบัตร

• 7 ก.พ.2565 บริษัท อัคราฯ เปิดให้หน่วยงานภายนอก ได้เข้าไปตรวจสอบ การลงพื้นที่ของ กมธ.ป.ป.ช. ได้เข้าไปดูบ่อทิ้งกากแร่ หลังจากเริ่มดำเนินกิจการอีกครั้งซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการรั่วซึมหรือเคยรั่วซึมมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่

• 2564 น.ส.จิราพร อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงปลายรัฐบาล ถึงกรณีการใช้ ม.44 มีคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำอีกครั้ง

• 20 มี.ค.2566 เหมืองอัคราฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง อย่างเป็นทางการ โดยแจ้งจะใช้โรงประ กอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว จากนั้นจะซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 เมื่อทั้ง 2 แห่งกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจะรับพนักงานเพิ่มร่วม 1,000 อัตรา

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังระบุว่า การอนุมัติใบอนุญาตเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐ เพราะใช้เวลาในกระบวนการนานมาก เข้าใจได้ว่า หน่วยงานรัฐต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

เมื่อเดือน ม.ค.2566 ที่ผ่านมา พบข้อมูลว่า บริษัท อัคราฯ ได้สมทบทุนเข้ากองทุนต่าง ๆเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 243 ล้านบาท

บริษัท อัคราฯ ยังดึงผู้นำ ผู้แทนชุมชนรอบเหมือง 3 จังหวัด เข้ามาร่วมนั่งในคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ และคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน

สำหรับกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ บริษัทต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ

ดังนั้นนับตั้งปี 2560 หรือเป็นเวลาเกือบ 6 ปี ตั้งแต่คณะรัฐบาล คสช.ใช้ ม.44 ระงับกิจการเหมืองทองคำดังกล่าว จนกระทั่งหมดยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเข้าสู่ยุครัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566 และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่คือ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

ขณะที่ล่าสุด เครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นางอารมณ์ คำจริง และนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลงวันที่ 7 ก.ย.2566 โดยขอให้ ขอให้เร่งดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้ครบถ้วนทุกคดี และขอให้เร่งดำเนินการเอาผิดกับ นายพิเชษฐ์ ทองศรีนุ่น เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ หัวหนัาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 17/2559 เหตุจากการที่สอบสวนเสร็จสิ้นแต่ไม่ดำเนินการเอาผิดกับบริษัทอัคราฯ ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย

กรณีที่นายพิเชษฐ์ ทำการสอบสวนพบว่าบริษัทอัศราฯ กระทำการยุคถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และทางสาธารณะ โดยไม่ได้ขอประทานบัตรอันเป็นการกระทำความผิดดามกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 43 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาไปซึ่งสินแร่ทองคำและสินแร่เงินโดยผิดกฎหมาย และยังเกี่ยวข้องกับการได้ไปโดยไม่ชอบอันเข้าข่ายลักษณะการกระทำความผิดฐานเลี่ยงภาษี และฟอกเงินด้วย

นอกจากนี้ ยังขอให้ตรวจสอบกำกับดูแลกรณีร้องเรียนให้ตั้งกรรมการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.ท.อมร หงษ์สีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหตุจากการที่มีพฤติการณ์ใช้อำนาจหน้าที่ ให้ความเห็นทางคดีโตยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และบิดเบือนข้อกฎหมาย เพื่อยุติไม่ดำเนินการเอาผิดกับบริษัทอัคราฯ ในหลายกรณี

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ, theactive, ข่าวค่ำไทยพีบีเอส, ประชาชาติธุรกิจ

อ่านข่าวอื่น ๆ 

"สุริยะ" ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัครา จากรัฐบาล "ทักษิณถึงประยุทธ์"

"เหมืองอัคราฯ" เปิดอีกครั้งในรอบ 6 ปี-ภาค ปชช.ตั้งข้อสงสัยเอื้อเอกชน ?

เพื่อไทยจวกแพ้คดีเหมืองทองอัครา "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" รับผิดชอบ?

THE EXIT : กลเกม "ทุนไทย-ต่างชาติ" ฮุบเหมืองทองอัครา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง