ชาวบ้านโพสต์เจอ "ส่วยค่าเก็บเห็ด" เขาอังคาร จนท.แจงนำเงินไปพัฒนาป่า

ภูมิภาค
18 ก.ย. 66
06:48
1,323
Logo Thai PBS
ชาวบ้านโพสต์เจอ "ส่วยค่าเก็บเห็ด" เขาอังคาร จนท.แจงนำเงินไปพัฒนาป่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวเน็ตโพสต์ดรามาเจอ “ส่วยเก็บเห็ด” ที่ป่าเขาอังคาร จ.บุรีรัมย์ หัวละ 20 บาท ด้านเลขาป่าชุมชนยืนยันไม่ใช่ส่วย เป็นกฎระเบียบของชุมชนที่ร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าที่ปฏิบัติกันมานาน และนำเงินไปพัฒนาป่าในพื้นที่

วันที่ 17 ก.ย.2566 กรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ว่าเจอค่าส่วยเก็บเห็ด เพราะมีการตั้งด่านเก็บเงินผู้ที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่าเขาอังคาร โดยระบุข้อความว่า “โดนเก็บค่าเห็ดสองด่านตะวันตกกับตะวันออก พี่น้องข่อยได้เห็ดสองดอก ใครที่ยังไม่รู้โปรดรู้ ก่อนที่จะไปเด้อคะ สำหรับคนที่จะไปเก็บเห็ด มีสองด่านคนละเขต ถ้าใครจะไปเขาอังคารให้ไปอีกทางจะได้ไม่ผ่านด่านโคกพวง ถ้ามาเขาคอกให้มาทางโคกพวงได้เลยค่ะ” จนกลายเป็นที่วิจารณ์กันในสื่อสังคมออนไลน์หรือโลกโซเชียล

ซึ่งภายหลังที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ป่าสาธารณะน่าจะเก็บเห็ดได้อย่างเสรี หรือจะเป็น “ส่วย” เก็บเห็ดหรือไม่?

หลังเกิดกระแสดรามา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบ บริเวณทางขึ้นเขาอังคาร ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.บุรีรัมย์ มีเห็ดหลายชนิดงอกขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก โดยช่วงนี้ซึ่งเป็นหน้าฝนก็มีผู้คนจากอำเภอต่างๆ ใน จ.บุรีรัมย์ และจากจังหวัดใกล้เคียง พากันขี่รถมอเตอร์ไซค์ และเหมารถยนต์เพื่อมาเก็บเห็ดในป่าเขาอังคารเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่จะเข้าไปเก็บเห็ดต้องจ่ายเงินที่ด่านปากทางเข้าคนละ 20 บาท

จากการสอบถามทราบว่า คณะกรรมการของหมู่บ้าน จะเก็บค่าผ่านทางคนละ 20 บาท ในแต่ละวัน จะมีรถพาคนมาเก็บเห็ดประมาณ 80 - 100 คัน มีคนประมาณ 800 -1,000 คนต่อวัน ที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่านี้

นายพลภัทร ชัสวิเศษ เลขาป่าชุมชนเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ป่าเขาอังคารแห่งนี้ มี 6 ชุมชน ที่รับผิดชอบร่วมกัน มีการเก็บเงินค่าเข้าไปเก็บเห็ดจริง เป็นค่าใช้บริการเงินที่ได้ไปจะเข้าคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนกลาง ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน แต่ละป่า จะมีคณะกรรมการคนละชุด ซึ่งแต่ละคณะกรรมการ จะไปวางระเบียบการจัดการบริหารอย่างไร

ส่วนใหญ่จะเอาไปพัฒนาป่าในพื้นที่ เช่นการพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกป่าเพิ่ม การทำแนวกันไฟ รวมถึงชุดลาดตระเวน ที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ออกไปอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ในช่วงที่เห็ดออกเยอะ คือช่วงนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องออกลาดตระเวนคืนละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าเงินเหลือก็จะเอาเข้าไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง

นายพลภัทร กล่าวอีกว่า เท่าที่สอบถามผู้ที่มาเก็บเห็ดจะมาจากที่อื่น พบว่าแต่ละพื้นที่มีป่าเหมือนกันหมด แต่ไม่มีเห็ดให้เก็บ ส่วนตัวคิดว่าชุมชนนั้นไม่มีความสามารถ บริหารจัดการให้สิ่งแวดล้อม ให้กลับคืนมาได้ สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารในการเก็บค่าบริการคือ อยากให้ทุกคนที่มาเก็บเห็ด ได้สร้างจิตสำนึก ให้เขากลับไปคิดว่าบ้านเขาก็มีป่า ทำไมไม่ไปบริหารจัดการ ให้ป่าของตัวเองมีเห็ดแบบนี้บ้าง ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเก็บถึงที่นี่ บางคนเดินทางมาไกลกว่า 80 กม.

ซึ่งพื้นที่เขาอังคาร มีเนื้อที่ประมาณ 3,430 ไร่ เห็ดของป่านี้ จะมีความพิเศษกว่าเห็ดป่าที่อื่น เพราะเป็นป่าภูเขาไฟ ลักษณะเห็ดจะล้างดินออกง่าย รสชาติอร่อย สารบางอย่างที่ดีต่อสุขภาพ แบบเห็ดที่อื่นไม่มีโดยในแต่ละปี เห็ดจะออกในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.และเดือน ก.ย.-ต.ค.ทุกปี 

ส่วนกรณีดรามา ในโซเชียลที่บอกว่ามีค่าส่วยเก็บเห็ด ก็ยืนยันว่าไม่ใช่การเก็บส่วย แต่เป็นกฎระเบียบของชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าแห่งนี้ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปบริหารจัดการรักษาป่า

อ่านข่าวอื่นๆ :

มหาสารคาม แจงดรามา “พญานาคพ่นน้ำ” หรือหน่อไม้ฝรั่ง

ชาว อ.พาน บุกศาลากลางเชียงราย "ค้านโรงไฟฟ้าขยะ" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง