หมอประเวศ เสนอ ศธ.-อว. ใช้คานงัดแก้วิกฤตชาติ

สังคม
21 ก.ย. 66
17:31
433
Logo Thai PBS
หมอประเวศ เสนอ ศธ.-อว. ใช้คานงัดแก้วิกฤตชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราษฎรอาวุโส เสนอ ศธ.-อว. ใช้คานงัดประเทศไทย บูรณา 8 มิติ "เศรษฐกิจ-ประชาธิปไตย" เรียนรู้หลัก 6 เป็น ชี้เรียนแบบท่องจำ นำชาติวิกฤต

วันนี้ (21 ก.ย.2566) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เผยแพร่ข้อเสนอแนะถึง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยระบุว่า ทั้ง 2 กระทรวง มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นระบบปัญญาของชาติ แต่นักการเมืองไม่ค่อยสนใจ อาจกลัวว่ายาก

เมื่อคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านพูดกับผมว่า เรื่องการศึกษานี้ผมอยากทำมาก แต่ไม่รู้จะจับในแง่มุมไหน และแง่มุมที่คุณทักษิณพูดนั้น คือ จุดคานงัด ถ้ารู้จุดคานงัดแล้วงัดตรงนั้น จะยกประเทศไทยขึ้นได้ทั้งประเทศ แต่ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดเข้าใจแง่มุม ที่คุณทักษิณพูด หรือ จุดคานงัด ของการศึกษาไทย ก็น่าเห็นใจ

ศ.นพ.ประเวศ ให้คำแนะนำว่า ผู้บริหารอย่าไปบริหารงานประจำ ซึ่งจะเหนื่อยและไม่ได้ผล ระบบมีข้าราชการประจำทำอยู่แล้ว รัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำนโยบาย และนโยบายต้องพุ่งไปที่จุดคานงัดของระบบการศึกษา ซึ่งถ้างัดตรงนี้อย่างเดียว ทั้งหมดจะดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ราษฎรอาวุโส ยังอธิบายความหมายจุดคานงัดประเทศไทยว่า เรามีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามาก ควรเจริญรุ่งเรืองยิ่ง แต่กลับติดอยู่ในวิกฤตการณ์เรื้อรัง เพราะพัฒนาแบบแยกส่วนเป็นเรื่อง ๆ อะไรที่ชำแหละเป็นส่วน ๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ก็จะทำให้สิ้นชีวิต ชีวิตคือการเชื่อมโยง

และการพัฒนาแบบแยกส่วน ทำให้ประเทศเสียสมดุลหมดทุกมิติ อะไรที่ไม่สมดุลก็จะปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤต ไม่ยั่งยืน แต่การพัฒนาอย่างบูรณาการ จะทำให้ทุกส่วนเชื่อมโยงกัน เมื่อเชื่อมโยงก็จะมีชีวิต ชีวิตเรียนรู้และเติบโตได้ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง จะเอาหน่วยงาน ประเด็น หรือวิชาการ เป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะแยกส่วนเป็นเรื่อง ๆ

ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า การบูรณาการจะต้องเชื่อมโยงกันใน 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และ ประชาธิปไตย ในแบบที่เรียกว่า "มรรคสมังคี" ที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ของการศึกษา คือ เป็นระบบการศึกษาที่แยกส่วน โดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง วิชาความรู้มีความสำคัญแต่ไม่ใช่ตัวตั้ง แต่เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งของการเรียนรู้

ดังนั้นการศึกษาต้องบูรณาการกับชีวิต ตามหลักทางพุทธศาสนา ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต และ ชีวิตจะเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้นให้ได้ 6 เป็น คือ ทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น พัฒนาจิตใจเป็น ไม่ใช่การศึกษาแบบท่องเป็น แต่ทำอะไรไม่เป็น เป็นเหตุให้ชาติอ่อนแอและวิกฤต

สำหรับนโยบายจุดคานงัดของกระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่า ให้ทุกสถาบันการศึกษามีหลักสูตรเรียนรู้จากการทำงาน (Work-Base Learning) หรือ WBL ถ้ามีการเรียนรู้จากการทำงาน มีรายได้ไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย จะหายจนทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คือ หายจนทั้งประเทศ และคนไทยมีสมรรถนะสูงเพราะทำเป็น และอุดมศึกษาควรเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

ไทยมีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน ประมาณ 140 แห่ง มีนิสิตนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคน มีครูบาอาจารย์ นักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมศักยภาพทางปัญญามหาศาล แต่การที่ไม่สามารถเป็นหัวรถจากทางปัญญา พาชาติออกจากวิกฤตได้ เพราะคิดเชิงเทคนิคเท่านั้น ขาดสมรรถนะการคิดเชิงระบบและการจัดการ รวมทั้งสมรรถนะเชิงพัฒนานโยบาย

ศ.ดร.ประเวศ ระบุว่า จุดคานงัดของอุดมศึกษาไทยมี 2 จุด คือ นโยบายการทำงานเชิงพื้นที่ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ถ้ามหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ จะทำให้คนไทยเข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย การศึกษาที่ทำให้คนไทยไม่เข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ทำให้ชาติวิกฤต เพราะเมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้

ส่วนนโยบายมหาวิทยาลัยกับการพัฒนานโยบาย นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติ เพราะกระทบทุกองคาพยพของประเทศ ไทยเกือบไม่มีความสำเร็จทางนโยบาย เป็นเหตุให้ติดอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์ ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจระบบนโยบาย นโยบายเป็นระบบไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น ถ้าทำไม่เป็นระบบครบวงจร ก็ไม่สำเร็จ

แต่ถ้าทำเป็นระบบครบวงจร 12 ขั้นตอน ก็จะสำเร็จทุกเรื่อง เรียกว่า สัมฤทธิศาสตร์ ถ้ามหาวิทยาลัยสร้างความเชี่ยวชาญในสัมฤทธิศาสตร์ ก็จะช่วยให้ประเทศมีความสำเร็จทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชุมชนจนถึงนโยบาย จึงเรียกว่า อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต การสร้างนักพัฒนานโยบายในมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องไม่ยาก

ศ.ดร.ประเวศ ชี้ว่า หากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวง อว. ทำตรงนโยบายจุดคานงัด 3 จุด ที่กล่าวถึง ทุกสิ่งทุกอย่างก็สัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ บูรณาการกันสู่องค์รวม ไทยจะเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์ ทำนองเดียวกับที่เครื่องบินเมื่อประกอบชิ้นส่วนครบเป็นองค์รวมก็มีคุณสมบัติใหม่ คือ บินได้ ในขณะที่ไม่มีชิ้นส่วนใดบินได้เลย

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน พัฒนาแบบแยกส่วนประเทศ ไทยบินไม่ได้ ต้องพัฒนาอย่างบูรณาการสู่องค์รวม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง