หลังตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจาก OSIRIS-REx เดินทางถึงโลก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

Logo Thai PBS
หลังตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจาก OSIRIS-REx เดินทางถึงโลก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเดินทางมาถึงโลกแล้ว ในภารกิจ OSIRIS-REx หลังจากที่ตัวอย่างหินมาถึงโลก มันจะถูกส่งมอบต่อไปยังห้องวิจัยที่ทันสมัยที่สุดในโลกสองแห่งของ NASA และ JAXA

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากยาน OSIRIS-REx เดินทางถึงโลกเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา โดย OSIRIS-REx จะบินผ่านโลกไป ส่วนแคปซูลตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจะถูกสลัดออกเพื่อให้ตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แคปซูลเก็บตัวอย่างซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัมจะเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่ความเร็วกว่า 1,850 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวอย่างภายในจะถูกปกป้องจากการสัมผัสกับชั้นบรรยากาศของโลกด้วยเกราะกันความร้อนของแคปซูล ก่อนที่ร่มชะลอความเร็วหลักจะกางออกเพื่อให้แคปซูลร่อนลงสู่พื้นโลก

ทีมเก็บกู้ของภารกิจ OSIRIS-REx ได้เก็บกู้ด้วยการพยากรณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 24 กันยายน ด้วยบอลลูนสำรวจอากาศ (High-Altitude Bballoon) และเครื่องบินเพดานบินสูง (High-Altitude Plane)

หลังตัวอย่างจาก OSIRIS-REx เดินทางถึงโลก ทีมเก็บกู้ภารกิจจะเคลื่อนย้ายแคปซูลตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการพิเศษที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ก่อนที่จะถูกย้ายไปยัง ARES (Astromaterials Research and Exploration Science Directorate) และ JAXA ซึ่งเป็นหน่วยงานเพียง 2 หน่วยงานที่มีความสามารถในการดูแลตัวอย่างจากวัตถุดาราศาสตร์นอกโลกที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ (non-restricted bodies) เพื่อการนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูออกมาจากแคปซูลโดยที่ไม่ให้ตัวอย่างปนเปื้อนและปกป้องโลกจากสารปนเปื้อนอันตรายที่อาจติดมากับตัวอย่างด้วย ขั้นตอนนี้เราเรียกกันว่า “Curation”

ดาวเคราะห์น้อยเบนนูถูกจัดเป็นกลุ่มวัตถุดาราศาสตร์ที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่จึงจำเป็นจะต้องผ่านการ “Curate” ที่ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety Level 3 หรือ BSL-3) ส่วนตัวอย่างจากวัตถุดาราศาสตร์ที่อาจเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่อย่างดาวอังคารนั้นจะต้องถูก Curate ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL-4) หรือระดับสูงสุดภายใต้สนธิสัญญาอวกาศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอันตรายจากนอกอวกาศเป็นหลัก (Planetary Protection) และเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอย่างปนเปื้อนซึ่งอาจทำให้ตัวอย่างไม่สามารถนำมาศึกษาต่อได้

หลังจากตัวอย่างถูก Curate แล้ว แต่ละส่วนของตัวอย่างจะถูกแบ่งเป็นส่วนย่อยจำนวนมากเพื่อการแจกจ่ายตัวอย่างเหล่านี้ไปยังห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ทั่วโลกตามที่ ARES และ JAXA เห็นสมควรเพื่อการศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติม ขั้นตอนเหล่านี้ใกล้เคียงกับการ Curate และแจกจ่ายตัวอย่างดวงจันทร์ช่วงภารกิจอพอลโล (Apollo) ยกตัวอย่างเช่นตัวอย่างหินดวงจันทร์จากภารกิจอพอลโล 11 ส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้แสดง อีกส่วนหนึ่งถูกแจกจ่ายไปยังทั้ง 50 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ๆ แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับหินดวงจันทร์เช่นกัน

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง